ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน พ.ค. เพิ่มขึ้น จากนโยบายเศรษฐกิจเป็นตัวหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2015 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนพ.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ด้วยปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจเป็นแรงหนุนบวก โดยผลสำรวจระบุว่านักลงทุนมองว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าดัชนีความเชื่อมั่นจะอยู่ในระดับทรงตัว จากระดับซบเซา ซึ่งนักลงทุนคาดการณ์ดัชนีจะอยู่ที่ 102.72 เพิ่มขึ้น 30.19% เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 78.90

ด้านปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นนั้น นักลงทุนมองว่าปัจจัยภายในประเทศยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยส่วนใหญ่มองว่าปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลหลักต่อตลาดหุ้น ส่วนปัจจัยเชิงลบที่มีผลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนหมวดอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ในขณะที่หมวดธุรกิจการเกษตรเป็นหมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลทิศทางตลาดหุ้น เช่นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาต่อเนื่อง การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) การไหลเข้าของเงินทุน และราคาน้ำมัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในประเทศ เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงล่าช้า การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) การจัดทำร่างรัฐธรรมมูญ และการส่งออกที่ยังชะลอตัว นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยทาง บล.เคที ซีมิโก้ คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะอยู่ที่ 3.4% จากการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งน่าจะมีการเบิกจ่ายมากขึ้นในช่วงของครึ่งปีหลัง ผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ และเมื่อภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามมา

ขณะที่การปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้น่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยที่ยังต้องจับตามอง คือภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐฯ ,ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายประมาณการณ์ไว้ และอีกปัจจัยที่ยังคงกดดันการลงทุนในขณะนี้คือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากขึ้นเร็วกว่ากำหนดหรือในช่วงเดือนก.ย.จะส่งผลทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา

พร้อมกันนี้ก็มองว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ไม่เป็นไปตามคาด จากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้าทำให้การจับจ่ายใช้สอยในสินค้าฟุ่มเฟือลดลง โดยจะเห็นได้จาก EPS ของกลุ่มแบงก์ ที่ออกมาก่อนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังพบว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) อยู่ในระดับสูง ทำให้กังวลว่าแบงก์อาจจะปล่อยสินเชื่อลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยปีนี้ คาดการณ์ว่าดัชนีจะขึ้นไปถึงระดับ 1,653 จุด อ้างอิงจากประมาณการณ์กำไรปีนี้ที่มีการเติบโต 23.7% ขณะที่ก็คาดว่าดัชนีจะลงไปทดสอบระดับต่ำสุดที่ 1,317 จุด ได้ในช่วงไตรมาส 2/58 โดยนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนจากเฟด ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดในช่วงนี้อยู่ในเรื่องของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยว่าจะที่มีการปรับขึ้นเร็วหรือไม่ หากเร็วก็จะส่งผลต่อการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา และ Fund Flow ก็ไม่มีเข้ามา

อย่างไรก็ตามก็มองว่าตลาดหุ้นไทยอาจจะมีการรีบาวน์ขึ้นในช่วงไตรมาส 3/58 และฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/58 น่าจะมีปัจจัยบวกมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้นในเรื่องของการเลือกตั้งทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลดี คือ รับเหมา-ก่อสร้าง

ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า มุมมองของนักลงทุนสถาบันในประเทศ มองว่าเศรษฐกิจโลกเป็นลักษณะ 2 High 2 Low หรือมีปริมาณหนี้ในระดับสูง และอัตราการว่างงานสูง ขณะที่อัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งเงินเฟ้อต่ำ ขณะเดียวกันตลาดเกิดใหม่ ยังมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ จากการบริโภคในประเทศลดลง

ทั้งนี้ กระแสเงินทุนจากต่างชาติอาจจะมีแนวโน้มติดลบ โดยปัจจุบันมีเงินทุนไหลออกติดลบ ราว 1 แสนเหรียญสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลต่อปัจจัยในประเทศหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเมืองและนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง โดยกระแสเงินทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่จะไหลไปยังประเทศ กลุ่มยุโรป และประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับภูมิภาคเอเชียนั้นกระแสเงินทุนยังไหลมาอย่างจำกัดจากโดนกดดันจากเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ตามการที่กระแสเงินทุนจะกลับมาอีกครั้งนั้นคงบอกไม่ได้เพราะต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วยว่าผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่

ขณะที่มองการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยตัวเลขปัจจุบันในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค 57-เม.ย.58) มีการเบิกจ่ายเพิมขึ้นเป็น 58.4% สูงกว่าปีก่อนที่ 35% คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 36.2% จาก 4.49 แสนล้านบาท

"ปีนี้การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติอาจจะเป็นลบ เห็นได้จากตอนนี้ลบไปราว 1 แสนเหรียญ โดยต่างชาติคงยังกังวลหลายเรื่อง ขณะที่เงินทุนส่วนใหญ่ไหลไปยุโรปกับญี่ป่น ส่วนเอเชียยังมาน้อยจากการกดดันของเศรษฐกิจจีน ส่วนประเทศไทยการเบิกจ่ายของภาครัฐก็ดีขึ้นเรื่อยๆรัฐมีการเร่งการเบิกจ่าย ซึ่งก็มองว่า กนง.ไม่น่าลดดอกเบี้ย และไม่ควรลดแล้วเก็บกระสุนไว้ดีกว่า"นางวรวรรณ กล่าว

นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับล่าสุดมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่มีต่อประเทศไทยนั้น มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณ 3.7% จากปีก่อนที่เศรษฐกิจไทยมีลักษณะหัวทิ่ม เป็นผลจากผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่หลังจากที่มีรัฐบาลเข้ามา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่างๆและการบริโภคปรับตัวดีขึ้น และน่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ