มอร์นิ่งสตาร์ เผยผลวิจัยประสบการณ์นักลงทุนทั่วโลกให้คะแนนกองทุนรวมไทย C+

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 9, 2015 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Morningstar, Inc. (NASDAQ: MORN) บริษัทฯชั้นนำของโลกทางด้านการให้บริการข้อมูลและการวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ ได้เปิดเผยผลงานวิจัยสำรวจประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม (Global Fund Investor Experience report) ซึ่งจัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี

ในครั้งนี้ได้มีการสำรวจประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนในกองทุนรวมทั่วโลกกว่า 25 ประเทศ ทั้งใน อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียและแอฟริกา และผลการสำรวจในครั้งนี้ประไทศไทยได้รับคะแนนในระดับ C+ โดยที่ เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา นั้นถูกยกให้เป็นประเทศที่มีสภาพการลงทุนในกองทุนรวมที่ดีสุด ขณะที่ประเทศจีน นั้นอยู่ในลำดับสุดท้าย

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาในงานวิจัยนี้ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลักได้แก่ 1. การกำกับดูแลและภาษี 2. มาตราฐานการเปิดเผยข้อมูล 3. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม 4. การซื้อขายหน่วยลงทุนและบทบาทของสื่อ โดยทาง มอร์นิ่งสตาร์ จะให้คะแนนดีไปยังประเทศที่มีการปรับกฏเกณฑ์และการกำกับดูแลได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเรียกเก็บภาษีการลงทุนในระดับต่ำ มีค่าธรรมเนียมที่ถูก มีความหลากหลายในช่องทางการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน รวมทั้งบทบาทการเสนอข่าวของสื่อที่จะเป็นตัวช่วยให้ข้อมูลและความรู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุน โดยข้อมูลดังกล่าวนี้เกิดจากการรวมรวมจากฐานข้อมูลกองทุนในระบบของมอร์นิ่งสตาร์ และข้อมูลจากทีมนักวิเคราะห์ของบริษัทฯที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผลการวิจัยสำหรับประเทศไทยโดยสังเขป นักลงทุนกองทุนรวมในประเทศไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากนโยบายเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้จากการลงทุนในกองทุนรวม รวมทั้งมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลที่พัฒนามากขึ้นสู่ระดับสากล อาทิ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปที่ล่าสุดได้มีการปรับปรุงให้มีข้อมูลที่เป็นมาตราฐานมาขึ้นอีกทั้งยังง่ายต่อความเข้าใจ รวมทั้งมาตราฐานในการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตโฟลิโอการลงทุนได้ถูกยกระดับให้เป็นการเปิดเผยแบบรายไตรมาสซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 เป็นต้นไป

ในเรื่องของกฎเกณฑ์ในการลงทุน ประเทศไทศยังคงมีข้อจำกัดอยู่มากเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ อาทิ จำนวนกองทุนในต่างประเทศที่สามารถเปิดให้นักลงทุนเลือกลงทุนที่ยังมีอยู่น้อย ถึงแม้ว่าจะมีการทำข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศ ไทย สิงคโปร์ และ มาเลเซียในเรื่องของ ASEAN CIS

กองทุนรวมในประเทศไทยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในงานวิจัย โดยเฉพาะกองทุนในกลุ่มกองทุนตราสารทุนและกองทุนตลาดเงิน อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายของกองทุนตราสาหนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

ช่องทางการซื้อขายหน่วยลงทุนและบทบาทของสื่อในประเทศ ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องช่องทางการซื้อขายหน่วยลงทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดซึ่งจากผลงานวิจัยระบุว่า มีจำนวนน้อยกว่า 20% ของกองทุนรวมในประเทศไทยที่ถูกขายผ่านระบบเปิด หรือ open-architecture system

สรุปผลการจัดอันดับของผลงานวิจัยสำรวจประสบการณ์การลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกมีดังต่อไปนี้

Korea: A

United States: A

The Netherlands: A-

Taiwan: A-

United Kingdom: B+

Sweden: B

Australia: B-

Denmark: B-

Finland: B-

Norway: B-

Switzerland: B-

Canada: C+

Germany: C+

India: C+

New Zealand: C+

Thailand: C+

Belgium: C

France: C

Hong Kong: C

Singapore: C

South Africa: C

Spain: C

Italy: C-

Japan: C-

China: D+

สำหรับผลงานวิจัยในครั้งนี้ ได้มีการนำดัชนีการมีเสรีภาพทางสื่อมวลชน The World Press Freedom Index เพิ่มเข้ามาร่วมพิจารณาในหัวข้อการซื้อขายหน่วยลงทุนและบทบาทของสื่อ อีกทั้งยังมีการเพิ่มการพิจารณาในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตโฟลิโอการลงทุน และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการทำการศึกษาประเทศฟินแลนด์

สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากผลงานวิจัยในครั้งนี้มีดังต่อไปนี้ ประเทศเกาหลีใต้ ได้รับคะแนนในระดับ A ในครั้งนี้เนื่องจาก การพัฒนาที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในเรื่องของมาตราฐานการซื้อขายหน่วยลงทุน

สหรัฐอเมริกา ยังคงรักษาอันดับคะแนนสูงสุดเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันที่คะแนนในระดับ A โดยมีจุดเด่นในเรื่องของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ถูกและมีมาตราฐานการเปิดเผยข้อมูลที่ค่อนข้างสูง

เนเธอร์แลนด์ได้รับคะแนนสูงมากขึ้นจาก B เมื่อผลการศึกษาครั้งที่แล้วมาอยู่ในระดับ A- ในครั้งนี้จากการพัฒนาในเรื่องของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่ถูกและมาตราฐานการซื้อขายหน่วยลงทุน โดยเฉพาะเรื่องของการห้ามที่ปรึกษาการลงทุนรับค่าคอมมิสชั่น

ประเทศฟินแลนด์ได้รับคะแนนระดับ B- แสดงให้เห็นถึงมาตราฐานที่ได้รับการพัฒนาในระดับเดียวกันกับกลุ่มประเทศในยุโรปอื่นๆ

และ ประเทศจีนได้รับการจัดอันดับคะแนนต่ำสุด D+ เป็นผลมาจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆในระดับสูง ข้อจำกัดที่มีมากต่อการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการห้ามขายกองทุนที่จดทะเบียนในต่างประเทศ

นับตั้งแต่ผลการศึกษาในครั้งที่แล้ว พบว่า นิวซีแลนด์ได้มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตการลงทุนเป็นแบบรายครึ่งปี ส่วนในประเทศไทยก็เช่นกัน ได้มีการปรับเกณฑ์ให้มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้เป็นแบบรายไตรมาส ทั้งนี้ออสเตรเลียยังคงเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่มีการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลในส่วนดังกล่าว อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยยังพบว่า กองทุนในหลายประเทศมีการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตโฟลิโอการลงทุนมากกว่าที่เกณฑ์กำหนดไว้โดยหลายกองทุนเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นแบบรายเดือน

ผลการวิจัยพบว่าเกือบทุกประเทศในผลงานวิจัยนี้ได้มีการพัฒนากฎเกณฑ์ในการลงทุนอย่างต่อตลอด 2 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นความกระตือรือล้น การเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องของผู้กำกับดูแลของแต่ละประเทศ (regulators) และผลการวิจัยยังพบว่า 22 จาก 25 ประเทศที่ได้ทำการศึกษานี้ ผู้ลงทุนมีธนาคารและบริษัทประกันเป็นช่องทางหลักในการซื้อขายหน่วยลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ