บลจ.กสิกรฯ แนะชะลอลงทุนเพิ่ม-โยกเข้าสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ รอ FED ชัดเจนก.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 26, 2015 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงนี้ปรับตัวผันผวนอย่างมาก โดยปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21-25 ส.ค.ที่ผ่านมา จึงแนะนำให้ผู้ลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยชะลอการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อประเมินสถานการณ์และภาวะตลาดอีกครั้งให้มีความชัดเจนมากขึ้นก่อน โดยเฉพาะหลังการประชุมของ FED ในเดือน ก.ย.ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ นักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนอยู่ในปัจจุบัน หากไม่สามารถรับความผันผวนได้ อาจมีการสับเปลี่ยนเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนผสม แต่ถ้าสามารถรับความผันผวนได้ แนะนำให้ถือต่อไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นไทย แม้บลจ.กสิกรไทยจะมีการปรับเป้าหมายดัชนีปลายปีลงมาอยู่ที่ 1,400-1,450 จุดแล้ว แต่เนื่องจากระดับราคาปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงสามารถเข้าสะสมเพื่อการลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะกองทุน LTF และ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยได้

นายพงศ์พิเชษฐ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการปรับตัวลดลงอย่างแรงของตลาดหุ้นทั่วโลก มาจากความกังวลในสถานการณ์ของจีน และได้ลุกลามไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลก แม้ว่าในบางตลาด อาทิ ตลาดหุ้นเอเชีย ญี่ปุ่นและยุโรป จะเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาบ้าง หลังจากได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางจีนที่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยล่าสุดได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 4.60% และการปรับลดอัตรากันสำรองธนาคารพาณิชย์ลงอีก 0.50% มาอยู่ที่ 18%

การที่ตลาดปรับตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา คาดว่ามาจากความกังวลในตลาดที่ทำให้นักลงทุนกังวลและลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง หลังการประกาศตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของจีนประจำเดือน ส.ค.ที่ออกมาต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่ง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทำให้เกิดความวิตกว่าเศรษฐกิจจีนได้เข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง และส่งผลทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุน โดยยังมี 2 ปัจจัยหลักมาเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ปัจจัยเรื่องความกังวลต่อภาวะความผันผวนของตลาดที่จะเพิ่มขึ้น หาก FED มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปัจจัยความกังวลเรื่องการอ่อนค่าของสกุลเงินในเอเชีย รวมถึงประเทศเกิดใหม่ตามทิศทางค่าเงินของจีน นอกจากนี้เมื่อจีนมีแนวโน้มที่จะมีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง จึงได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ซึ่งมีการพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และยังกระทบต่อประเทศที่พัฒนาแล้วในแง่การเป็นประเทศคู่ค้าของจีนด้วย

ทั้งนี้ ประเมินว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ไป คาดว่าตลาดในภาพรวมจะยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบคือ โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกดังกล่าว ทำให้นักลงทุนมีการปรับลดโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED ลดลงจาก 50% ในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 33% รวมถึงจะต้องติดตามผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของทางการจีน ว่าตลาดจะตอบรับในเชิงบวกได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ธนาคารกลางจีนได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายเศรษฐกิจและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้นักลงทุนยังเกิดความไม่มั่นใจต่อประสิทธิภาพของมาตรการจีนในหลายด้าน อาทิ การเข้าไปแทรกแซงตลาดหุ้นที่ร้อนแรง การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และการปรับลดค่าเงินหยวน ทำให้ตลาดเกิดความกังวลถึงความชัดเจนของนโยบายภาครัฐดังที่กล่าวมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ