SCB เผย Q3/58 กำไรสุทธิ 9.02 พันลบ.ลดลง 32% รับผลกระทบตั้งสำรองสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 19, 2015 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ประกาศผลกำไร (ก่อนสอบทาน) ประจำไตรมาสที่ 3/58 จำนวน 9,018 ล้านบาท ลดลงประมาณ 32% จากไตรมาส 3/57 เป็นผลมาจากการการตั้งสำรองที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อรองรับผลกระทบจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 2 ราย คือ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI) และ บริษัทลูกในประเทศอังกฤษซึ่งอยู่ระหว่างการพิทักษ์ทรัพย์ คือบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ประเทศอังกฤษ(SSI UK) ซึ่งถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ รวมถึงรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงจากการปรับรายการดอกเบี้ยค้างรับที่รับรู้เป็นรายได้แล้วจากลูกค้าทั้งสองรายดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลกำไรที่ลดลงในครั้งนี้ได้รับการทดแทนด้วยกำไรจำนวนมากจากการขายหุ้นสามัญในพอร์ตการลงทุนของธนาคารฯ ซึ่งหากไม่คิดรวมผลกระทบจาก SSI และ SSI-UK ธนาคารฯ จะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ในระดับเดียวกันกับในปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) มีอัตราการเพิ่มขึ้นปานกลาง

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า ธนาคารดำเนินการตั้งสำรองเต็มจำนวนเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ของ SSI ซึ่งเห็นว่าเป็นหลักการที่รอบคอบและระมัดระวังอย่างดีที่สุดเมื่อคำนึงถึงสถานะของ SSI และ SSI-UK ทั้งนี้ ภาวะความผันผวนอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมเหล็กโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นเรื่องที่เกินการคาดหมาย ในขณะที่ SSI เข้าซื้อกิจการโรงถลุงเหล็กประเทศอังกฤษในปี 54

"อย่างไรก็ตาม สำหรับในอนาคตนั้น คณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคารฯ มีความเชื่อมั่นว่าโครงการการปรับปรุงเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าที่ธนาคารฯ กำลังดำเนินการอยู่เพื่อยกระดับประสิทธิภาพธุรกิจพื้นฐานของธนาคารฯ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับความสามารถในการทำกำไรในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นและสร้างความยั่งยืนให้กับธนาคารต่อไป"นายอาทิตย์ กล่าว

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ลดลง 3.7% ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากการปรับรายการดอกเบี้ยค้างรับที่รับรู้เป็นรายได้แล้วของ SSI และ SSI-UK และจากรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงินที่ลดลง รายได้ที่ลดลงในครั้งนี้บางส่วนได้รับการชดเชยด้วยรายจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดและกลยุทธ์ของธนาคารฯ ในการลดค่าใช้จ่ายทางด้านเงินฝากเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ หากไม่คิดรวมผลกระทบจาก SSI และ SSI-UK ธนาคารฯ จะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในระดับเดียวกับในปีที่ผ่านมา

ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 75.3% ในไตรมาสนี้ จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เหตุผลหลักเนื่องมาจากการรับรู้รายได้จากการขายหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมาก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ธนาคารฯ ได้ขายหุ้นสามัญจากพอร์ตการลงทุนของธนาคารฯ ออกไป และรับรู้เป็นกำไรจำนวน 7,700 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรจำนวนนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้นโดยพอประมาณที่ 5.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในช่วงก่อนหน้าของปีนี้ ธนาคารฯ ได้มีการทบทวนปรับอัตราการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับครึ่งปีหลังของปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 100-110 bps (หรือประมาณ 1-1.1%) ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชะลอตัวท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพใหม่เกิดขึ้นสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ หลังจากการปิดตัวลงของ SSI-UK และต้องอยู่ภายใต้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ทำให้ SSI-UK กลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ และหลักทรัพย์ค้ำประกันถูกกำหนดมูลค่าเป็นศูนย์ด้วย ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ได้ส่งผลต่อ SSI ให้ต้องร่วมรับผิดชอบการชำระหนี้ และทำให้มูลค่าของหลักประกันลดลง ธนาคารจึงตัดสินใจที่จะตั้งสำรองเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญเป็นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับกรณีของ SSI และ SSI-UK ไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มเติมจากเงินสำรองปกติจำนวน 5 พันล้านบาทที่ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ไตรมาสนี้ ธนาคารมีจำนวนเงินสำรองเพิ่มเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 400% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/57 จำนวน 3,222 ล้านบาท

ผลจากการที่ SSI และ SSI-UK ได้รับการจัดเป็นหนี้ด้อยคุณภาพนั้น ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารฯ เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% ณ สิ้นเดือนกันยายน 58 จากเดิม 2.11% ณ สิ้นเดือนกันยายน 57 และ 2.22% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 และเนื่องจากสินเชื่อของ SSI-UK ได้รับการตั้งสำรองเอาไว้ทั้งหมดโดยกำหนดมูลค่าหลักประกันเป็นศูนย์ ธนาคารฯ จึงทำการจำหน่ายหนี้สูญลูกหนี้รายนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน พร้อมกันนี้ ระดับสำรองเพื่อการรองรับหนี้ด้อยคุณภาพโดยไม่รวมหลักทรัพย์ค้ำประกันลดลง จาก 140.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 57 และ 134.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 58 มาเป็น 100.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 58

ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCB กล่าวว่า แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 3 จะลดลง แต่คณะผู้บริหารและพนักงานก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาธนาคารฯ ให้สร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งจะบรรลุผลได้จากความแข็งแกร่งของธนาคารฯ ทางด้านธุรกิจพื้นฐานที่ดำเนินงานในปัจจุบันและการผลักดันการเติบโตของธุรกิจในอนาคตจากการขับเคลื่อนธุรกิจแนวใหม่ที่กำลังริเริ่มอยู่ ณ ขณะนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารฯ มีความเชื่อมั่นว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันยังคงมีพื้นฐานที่ดี และเราหวังว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นได้ตามเป้าหมายในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ