(เพิ่มเติม) KBANK มั่นใจสินเชื่อรายใหญ่ปีนี้โต 4%ตามเป้าหมาย, NPL ที่ 1%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 21, 2015 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ในปีนี้น่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4% หรือคิดเป็นพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 4.5 แสนล้านบาท โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 1% และรายได้ดอกเบี้ยน่าจะเติบโตได้ 7-9% รวมถึงค่าธรรมเนียมคาดโต 11-14%

ขณะที่ในปี 59 คาดว่า สินเชื่อรายใหญ่จะเติบโตได้ราว 4-5%

นายจงรัก กล่าวว่า แนวโน้มการควบรวมและซื้อกิจการสำหรับธุรกิจรายใหญ่มีสถิติการเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทไทย-ต่างชาติเข้าซื้อกิจการในอาเซียนเกือบ 200,000 ล้านบาท หวังขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน(AEC) ทำให้ปริมาณธุรกรรมมีมูลค่าและทิศทางในการขยายการลงทุนสู่ตลาดที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยภาพรวมการทำควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ทั่วโลก จะเติบโตกว่า 19% ในช่วงปี 58-61 ซึ่งนักลงทุนจะสนใจในอุตสาหกรรมยาและสุขภาพ,บริการ,โทรคมนาคมและเทคโนโลยี เนื่องด้วยมีแนวโน้มการเติบโตที่สูง

ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนดีลของ M&A เพิ่มขึ้นเป็น 23% ในช่วงปี 58-61 จาก 17.8% ในปี 57 จากการที่มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ประกอบกับประเทศอาเซียนยังมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ 4.6-4.9% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวราว 7% เทียบกับประเทศไทยที่อาจโตได้เพียง 3.2-3.6% ขณะที่คาดกำลังซื้อในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นแตะ 8.05 ล้านล้านบาทในปี 63 ได้

ส่วนการควบรวมและซื้อกิจการระหว่างธุรกิจไทยกับไทย (Domestic M&A) ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และธุรกิจด้านสุขภาพ โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจากกระแสการขยายตัวของเขตเมือง (Urbanization) และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั่วประเทศ รวมถึงแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่มีแนวโน้มการขยายตัวของประชากรที่ใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น

สำหรับในปี 59 KBANK มีงานที่ปรึกษาการทำ M&A และการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) รวม 5-10 ดีล คิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท จากในช่วงที่เหลือของปี 58 บริษัทฯมีงาน M&A และ IPO เหลืออยู่อีก 3 ดีล มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการควบรวมและซื้อกิจการจะเป็นลักษณะระหว่างธุรกิจไทยกับไทย ทั้งนี้บริษัทฯจะพยายามรักษาอันดับ TOP2 ในงาน M&A ที่ผ่านมานักลงทุนไทยมีความสนใจที่จะขยายการลงทุนในรูปแบบ M&A มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ โดยกลุ่มเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคอันดับ 1 ที่นักลงทุนไทยสนใจเข้าไปลงทุนจากปัจจัยที่ตั้งและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง รวมถึงยังเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงของธุรกรรม M&A จากทั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ที่ส่งผลต่อธุรกรรมการซื้อหรือควบรวมกิจการในต่างประเทศ (Outbound M&A) ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จะเห็นได้จากในปี 56 ตัวเลข Outbound M&A จากไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากราว 0.15% ของจีดีพีในช่วงปี 52-54 มาอยู่ที่ 1.3% ของจีดีพีหรือคิดเป็น 175,000 ล้านบาท ระหว่างปี 55-58 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง สิงคโปร์

"มองการควบรวมและซื้อกิจการทั้ง Inbound M&A และ Outbound M&A มีช่องทางการควบรวมอีกมาก โดยการที่ธุรกิจไทยไปซื้อธุรกิจต่างประเทศ ก็เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง แต่ยังมีไม่มาก เมื่อเทียบกับธุรกิจต่างชาติเข้ามาซื้อธุรกิจไทย โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ก็เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไป ซึ่งมูลค่าที่มีการซื้อ-ขายกิจการจะเฉลี่ยที่ 20,000 ล้านบาทต่อดีล สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาทต่อดีล ขณะที่มองการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขน่าจะอยู่ในระดับ 10% ปลายๆ" นายจงรัก กล่าว

อย่างไรก็ตามมองการควบรวมและซื้อกิจการ จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิต และลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันได้ เนื่องด้วยในอนาคตภาพของการแข่งขันทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ