(เพิ่มเติม) RATCH จับมือพันธมิตรเดินหน้าลงทุนลาว-จีน-อินโดฯ,ตั้งเป้ากำไรปี 59 เติบโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 12, 2015 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) เดินหน้าขยายธุรกิจตามเป้าหมาย จับมือพันธมิตรเล็งลงทุนโครงการใหญ่ในอินโดนีเซีย สปป.ลาว และจีน กำลังผลิตรวม 4,400 เมกะวัตต์ พร้อมยื่นข้อเสนอ 7 โครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ กำลังผลิตรวมประมาณ 35 เมกะวัตต์ คาดหวังได้รับการคัดเลือก 2 โครงการ พร้อมตั้งเป้ากำไรปี 59 จะเติบโตจากปีนี้หลังมีกำลังการผลิตใหม่ตามสัดส่วนร่วมทุนเข้าระบบราว 300 เมกะวัตต์ ขณะที่แผนการลงทุนใหม่และการลงทุนโครงการเดิมที่มีอยู่ในมือ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนเป็นราว 8,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 1.88 แสนล้านบาทในปี 61 จาก 1.24 แสนล้านบาทในปีนี้

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ RATCH กล่าวว่า สำหรับแผนการสร้างมูลค่ากิจการให้เติบโตและรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นให้คงอยู่ระดับเดิม มีแผนงานหลักใน 3 แนวทาง ได้แก่ การมองหาการลงทุนใหม่ ,การบริหารงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดและการบริหารจัดการประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักให้เต็มศักยภาพ

โดยในส่วนแผนการลงทุนใหม่นั้น ในช่วง 2 ปีจากนี้จะให้ความสำคัญกับโครงการที่ร่วมกับพันธมิตรในการลงทุน สำหรับโครงการที่มีศักยภาพในขณะนี้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจาวา 7 ขนาด 2 พันเมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย มูลค่าราว 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้ร่วมลงทุนกับบมจ.บ้านปู(BANPU) ฝ่ายละ 50% เพื่อเข้าประมูลงานดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งหากได้รับการคัดเลือกสัดส่วนการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปโดยบริษัทและบ้านปูจะถือหุ้นฝ่ายละ 35% ขณะที่การไฟฟ้าของอินโดนีเซียจะเข้ามาถือหุ้น 30%

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 ในลาว ขนาด 400 เมกะวัตต์ โดยปริมาณไฟฟ้าส่วนใหญ่จะขายกลับมาไทยและบางส่วนใช้ในลาว ซึ่งยังต้องมีการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วย โดยปัจจุบันได้ลงนามร่วมกับพันธมิตรในกลุ่ม Thai World Power เพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการ

โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) บริษัทได้ร่วมกับหน่วยงานราชการยื่นเสนอ 7 โครงการ กำลังการผลิตรวม 35 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะได้รับคัดเลือกอย่างน้อย 2 โครงการ ซึ่งจะรู้ผลในเดือนธ.ค.นี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในจีน ขนาด 2 พันเมกะวัตต์ มูลค่าราว 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขายไฟฟ้าในจีน โดยมีโอกาสที่จะได้รับสัญญาการขายไฟฟ้า ซึ่งบริษัทจะถือหุ้นในโครงการ 10% ร่วมทุนกับพันธมิตรจีนกลุ่ม CGN ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการขยายธุรกิจเข้าไปในจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และยังจะได้มีพันธมิตรที่ดีเพื่อโอกาสในการขยายงานต่อไป

โครงการโซลาร์ฟาร์ม 3 โครงการในญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากไต้หวัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลรายละเอียดของโครงการ

นายรัมย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดนั้น ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 3 ขนาด 626 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 40% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 59 ,โรงไฟฟ้านวนครโคเจนเนอเรชั่น ขนาด 132 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 40% จะแล้วเสร็จในกลางปี 59,โครงการโซลาร์ฟาร์ม ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ขนาดรวม 33.51 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 60 ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ขนาด 410 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 25% จะแล้วเสร็จในปี 62 และโครงการเบิกไพร โคเจนเนอเรชั่น ขนาด 100 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 35% จะแล้วเสร็จในปี 62

โดยในปีหน้าบริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 4 พันล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนตามแผน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าหงสาราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามแผน ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตใหม่ตามสัดส่วนร่วมทุนเข้าระบบในปีหน้าอีกราว 300 เมกะวัตต์ และการบริหารโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้คาดว่าจะผลักดันกำไรในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ได้

ณ สิ้นก.ย.58 บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 6,578.12 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องแล้ว 6,117.31 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาราว 460.81 เมกะวัตต์ โดยในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่ากิจการที่ระดับ 1.24 แสนล้านบาท และวางเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 1.88 แสนล้านบาท หรือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนเพิ่มทุนเพิ่มเป็นราว 8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตเป็นระดับดังกล่าวราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีเป้าหมายมูลค่ากิจการเพิ่มเป็น 2.82 แสนล้านบาทในปี 66 หรือมีกำลังการผลิตราว 9,700 เมกะวัตต์

นายรัมย์ กล่าวอีกว่า บริษัทมองหาทุกโอกาสในการเข้าลงทุนซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนด้วย โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตในส่วนที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนราว 60-70 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ