ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร KCAR ที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 9, 2015 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส (KCAR) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจรถเช่าและความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงินในระดับที่เพียงพอของบริษัทซึ่งมาจากกระแสเงินสดที่แน่นอนจากค่าเช่าที่ส่วนใหญ่เป็นสัญญาเช่าระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกบั่นทอนจากการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งจากราคารถยนต์มือสองที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการขยายธุรกิจและทำกำไรของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงสถานะทางการตลาดได้ต่อไปด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานลูกค้าหลักกลุ่มเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ได้แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงก็ตาม
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทยังมีข้อจำกัดตราบใดที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศยังไม่เอื้ออำนวยและราคารถยนต์มือสองยังไม่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจำกัดกำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าและผลประกอบการโดยรวมของบริษัท นอกจากนี้ สถานะทางเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบหากผลกระทบจากราคารถยนต์มือสองทำให้กำไรจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าของบริษัทลดลงมากยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินโดยรวมของบริษัทให้ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส ให้บริการรถยนต์เช่าดำเนินงานทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ให้เช่าสุทธินับแต่ปี 2552 ถึงปี 2554 แล้ว บริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการ 30 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งมาโดยตลอด ในปี 2555 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเนื่องจากคู่แข่งมีการขยายขนาดสินทรัพย์ให้เช่าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การแข่งขันด้านราคายังคงมีความรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการทำสัญญาเช่าดำเนินงานขนาดใหญ่และการประมูลงานภาครัฐ ทั้งนี้ บริษัทเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการประมูลงานทั่วไปหรือรับงานจากโครงการที่ได้รับอัตราค่าเช่าต่ำ แต่จะเน้นกลยุทธ์การให้บริการที่มีคุณภาพเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการบริการที่ดีและยินดีที่จะจ่ายเพื่อได้รับการบริการดังกล่าวด้วย
สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2556 โดยลดลงจาก 2,917 ล้านบาทในปี 2554 เหลือ 2,863 ล้านบาทในปี 2555 และลดลงเหลือ 2,704 ล้านบาทในปี 2556 อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2,924 ล้านบาทในปี 2557 และเป็น 2,999 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 สำหรับครึ่งแรกของปี 2558 บริษัทมีรายได้จากการให้เช่ารถยนต์แบบระยะยาวคิดเป็นอัตราส่วน 96% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทมีรถยนต์ให้เช่า 6,788 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 6,562 คันในปี 2557 และจาก 6,261 คันในปี 2556 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 รถยนต์ของบริษัทเกือบทั้งหมดประมาณ 87% เป็นรถที่ให้บริการภายใต้สัญญาเช่าระยะยาว และส่วนที่เหลือเป็นรถให้เช่าระยะสั้นและรถทดแทน

บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทจัดซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ให้เช่าในสัดส่วนมากกว่า 50% ของรถยนต์ที่จัดซื้อทั้งปีผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลจันทรเสรีกุลเป็นเจ้าของ การจัดซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายของผู้ถือหุ้นใหญ่ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ด้านข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งช่วยให้บริษัทจัดซื้อรถยนต์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่า

และนอกจากการมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 800 แห่งซึ่งบริษัททำสัญญาทางธุรกิจด้วยแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของศูนย์บริการของตนเองซึ่งทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการบำรุงรักษาที่ไม่จำเป็นอันอาจเกิดจากศูนย์บริการภายนอกด้วย บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าซึ่งหมดสัญญาเช่ากับลูกค้าแล้วผ่านทางบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ด้วยประสบการณ์ของผู้บริหารของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลและการได้รับการรับรองคุณภาพรถยนต์ใช้แล้วภายใต้โครงการ “โตโยต้าชัวร์" ช่วยให้บริษัทสามารถจำหน่ายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุสัญญาในราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายผ่านตัวแทนรับประมูลทั่วไป ทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสองของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลได้รับผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลซึ่งทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์มือสองถูกแทนที่ด้วยความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ในทันที ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องต่อไปเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ยังคงมีแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อพยายามลดยอดรถยนต์ใหม่คงคลังส่วนเกินให้หมดไป คณะผู้บริหารของบริษัทกรุงไทยออโตโมบิลให้ความสำคัญในการขายรถยนต์ให้เช่าที่หมดอายุของบริษัทมากกว่าการขายรถยนต์มือสอง ทั้งนี้ กำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการรถยนต์มือสองที่ลดลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นโยบายตัดค่าเสื่อมราคาแบบอนุรักษ์นิยมยังคงทำให้บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าถึงแม้ว่าอัตรากำไรจะลดลง ตั้งแต่ปี 2551-2555 กำไรสุทธิของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลคิดเป็นสัดส่วน 12%-14% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือ 3% ของกำไรสุทธิรวมของบริษัทในปี 2556 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8%ในปี 2557 และ 6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ทั้งนี้ ราคารถยนต์มือสองได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2557 แต่การฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติยังคงมีความไม่แน่นอนและต้องใช้เวลาพอสมควร

ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้จากค่าเช่ารถยนต์ของบริษัทลดลงจาก 19.1% ในปี 2554 เหลือ 17.1% ในปี 2555 และ 17.2% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้ค่าเช่ารถยนต์กลับเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในช่วงปี 2557 และ 9 เดือนแรกของปี 2558 เนื่องจากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ในปี 2556 ผลของราคารถยนต์มือสองที่ลดลงอย่างมากทำให้ผลกำไรของบริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลลดลงถึง 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจาก 54.4 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 9.5 ล้านบาทในปี 2556 ในปี 2557 บริษัทกรุงไทย ออโตโมบิลมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 16.7 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2556 บริษัทมีกำไรสุทธิ 273 ล้านบาท ลดลง 32% จากปี 2555

ทั้งนี้ ในปี 2557 กำไรสุทธิของบริษัทยังลดลงมาอยู่ที่ 214 ล้านบาทอันเป็นผลมาจากการลดลงของราคารถยนต์มือสองและการชะลอตัวของธุรกิจซื้อขายรถยนต์มือสอง สำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิ 150 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับ 165 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิของบริษัทลดลงจาก 19.4% ในปี 2555 เหลือ 16.3% ในปี 2556 เหลือ 14% ในปี 2557 และเหลือ 12.8% ในงวด 9 เดือนแรกปี 2558 แม้ว่าอัตรากำไรสุทธิจะลดลง แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

บริษัทมีฐานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับปานกลาง โดยมีสภาพคล่องที่เพียงพอจากค่าเช่าที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลักษณะของสินทรัพย์ให้เช่าซึ่งมีสภาพคล่องสูงในการจำหน่ายจะช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้บางส่วนด้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ