โดยการทบทวนบทลงโทษใหม่นี้อาจจะปรับปรุงให้มีลักษณะใกล้เคียงหรือเช่นเดียวกับบทลงโทษการกระทำผิดของผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่หากผู้บริหารสถาบันการเงินยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ซึ่งบทลงโทษที่มีการทบทวนของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใหม่นั้นทางก.ล.ต.คาดว่าสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้
"ก.ล.ต.ได้มีการประชุมกับบอร์ด ก.ล.ต.ครั้งที่แล้ว ก็ได้มีการรายงานการปฏิบัติงานของก.ล.ต.ในเรื่องการดำเนินงานของก.ล.ต. ซึ่งทางบอร์ด ก.ล.ต.ต้องการให้ทางสำนักงานมีการทบทวนการลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย เพราะเกณฑ์เดิมนั้นใช้มานานถึง 10 ปีแล้ว จึงอยากให้ทบทวนให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ว่าจะทบทวนอย่างไรได้บ้าง แต่คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะประกาศเป็นแนวปฏิบัติของก.ล.ต. และจะเปิดเผยอย่างเป็นสาธารณะอีกทีหากได้ข้อสรุปแล้ว" นายรพี กล่าว
นายรพี กล่าวว่า การปรับปรุงบทลงโทษให้มีความเข้มข้นมากขึ้นนี้นเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (59-61) ของก.ล.ต.ที่ต้องการยกระดับและเพิ่มมาตรฐานของตลาดทุนไทยให้สูงขึ้น และต้องการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานที่ถูกหลักธรรมมาภิบาลทั้งตัวองค์กรและบุคคลากรภายในองค์กร
นอกจากนี้ก.ล.ต.ยังหวังที่จะผ่านการประเมินภาพรวมภาคการเงินของไทย Financial Sector Assessment Program (FSAP) ซึ่งจะประเมินโดย World Bank และ IMF โดยจะเข้ามาประเมินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) และ ก.ล.ต. ในช่วงปี 62 โดยหากผ่านการประเมินนี้จะทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น หลังผ่านการประเมิน FSAP
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. 3 ปี นั้นจะเป็นแผนการดำเนินงานครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การระดมทุน ตลาดและตัวกลาง สินค้า/ตราสารทางการเงิน และการพัฒนาศักยภาพของ ก.ล.ต. ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นผลลัพธ์จากการวิเคราะห์และปรับโฟกัสลงไปที่ต้นเหตุของเรื่องและกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ระบบนิเวศตลาดทุนมีความสมดุล นอกจากนี้ ยังได้ผสมผสานกลไกอื่นนอกจากการบังคับใช้ด้วยกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว โดยสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและกลุ่มเป้าหมายมีความเข้าใจอย่างแท้จริง ผ่านการทำความเข้าใจและให้ความรู้ ซึ่งการออกกฎเกณฑ์จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องได้มีเวลาปรับตัวไปสู่เป้าหมายต่อไป เพื่อมุ่งให้ตลาดทุนไทย มีความน่าเชื่อถือ ระบบนิเวศในตลาดทุนมีความสมดุลทุกด้าน มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยกฎเกณฑ์ที่พัฒนาจากมุมมองที่รอบด้านและปฏิบัติได้จริง รองรับความหลากหลายของสินค้าและบริการตามมาตรฐานสากล และประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากตลาดทุนทั้งการเข้าถึงทุนและการลงทุน
ในด้านการระดมทุน จะมีงานสำคัญ อาทิ ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน โดยการออกแนวปฏิบัติให้บริษัทจดทะเบียนหลอมรวมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการประกอบธุรกิจ ขณะที่ในด้านด้านตลาดและตัวกลาง ก.ล.ต. จะยกระดับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานสากลและร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งส่งเสริมตราสารประเภทที่เป็น win-win ทั้งตลาดทุนไทยและเพื่อนบ้าน อาทิ การออกกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดทุนของประเทศเพื่อนบ้าน
การพัฒนาสินค้า/ตราสารทางการเงิน จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและธุรกรรมใหม่ๆ ในตลาดทุน เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลคุณภาพกระบวนการผลิต การเปิดเผยข้อมูล และการขายตราสารการลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบจากความไม่รู้ของผู้ลงทุน และส่งเสริมการเข้าถึงตลาดทุน ผ่านการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายช่องทางเข้าถึงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่การพัฒนาศักยภาพของ ก.ล.ต. ทั้งการปรับรูปแบบกระบวนดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการยกระดับเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง