นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ RATCH กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ในจีน มีกำลังการผลิตประมาณ 6 พันเมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก ประกอบด้วยหน่วยผลิตที่ 1 และ 2 กำลังผลิตรวมประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันเดินเครื่องผลิตแล้ว ส่วนระยะที่ 2 ที่ RATCH ได้เข้าไปมีส่วนถือหุ้น 10% นั้น จะประกอบด้วยหน่วยผลิตที่ 3 และ 4 มีกำลังการผลิตหน่วยละ 1,180 เมกะวัตต์ โดยหน่วยผลิตที่ 3 จะเริ่มผลิตในปี 64 และหน่วยผลิตที่ 5 จะเริ่มผลิตในปี 65 ตามลำดับ หลังจากที่โครงการระยะ 2 สำเร็จแล้ว คาดว่าทางจีนจะเริ่มโครงการระยะที่ 3 ซึ่งจะมีอีก 2 หน่วยผลิตรวมกำลังการผลิตราว 2 พันเมกะวัตต์
สำหรับการลงทุนโครงการระยะ 2 ที่บริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 7,500 ล้านบาทนั้น จะไม่กระทบต่อกระแสเงินสดที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจะเป็นการทยอยลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่หากโครงการระยะที่ 2 เป็นไปได้ด้วยดี ก็มีโอกาสที่บริษัทจะเข้าร่วมลงทุนในโครงการระยะ 3 ในอนาคตด้วย
"หลังจากนี้ก็จะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนของทั้งสามฝ่าย และยังต้องรอบางเงื่อนไขที่จะต้องมีการลงนามระหว่างภาครัฐ ซึ่งอาจจะเซ็นสัญญากันได้ต้นปีนี้...โครงการนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 digit"นายรัมย์ กล่าวอนึ่ง RATCH ในนาม บริษัท Ratch China Power Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามสัญญาร่วมทุน (Equity Joint Venture Contract) กับ China General Nuclear Power Corporation (CGN) และ Guangxi Investment Group Co.,Ltd (GIG) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 10% , 51% และ 39% ตามลำดับ เพื่อจัดตั้งบริษัท กวางสี ฟังเชงกัง นิวเคลียร์ เพาเวอร์ II (Guangxi Fangchenggang Nuclear Power (II) Co,.Ltd ซึ่งจะเป็นผู้พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง ระยะที่ 2 โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 200,000 ล้านบาท (40,000 ล้านหยวน) โดยคิดเป็นสัดส่วนเงินลงทุนของบริษัท ประมาณ 7,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ RATCH จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเพิ่มจากการลงทุนในโครงการนี้อีก 236 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่เดินเครื่องผลิตแล้ว, กำลังก่อสร้าง และพัฒนาเพิ่มเป็น 6814.12 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ราว 720.79 เมกะวัตต์ หรือ 10% เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทั้งจากพลังน้ำ,ลม,แสงอาทิตย์ และนิวเคลียร์
นายรัมย์ กล่าวว่า บริษัทจะรับรู้เงินปันผลจากสัดส่วนการร่วมทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 64 และต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และสามารถขยายเวลาได้อีก 30 ปี โดยโครงการจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับรายได้ของบริษัท และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดในจีน ตลอดจนเพิ่มพูนทักษะเชิงเทคนิคด้านพลังงานนิวเคลียร์ให้กับบริษัทด้วย
สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนต่อเนื่องสำหรับโครงการในแผนงาน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 3 ในลาว ,โรงไฟฟ้านวนครโคเจนเนอเรชั่น และอื่นๆ รวมถึงใช้ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาประสิทธิภาพการผลิต โดยงบลงทุนดังกล่าวไม่รวมถึงโครงการลงทุนใหม่หรือการเข้าซื้อกิจการ ที่บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว,เมียมมาร์,กัมพูชา,เวียดนาม,อินโดนีเซีย,ญี่ปุ่น ,ฟิลิปปินส์ โดยเป้าหมายหลักยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถส่งไฟฟ้ากลับมาขายในไทยได้ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะสามารถสรุปผลศึกษาลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ในลาวได้อย่างน้อย 1 โครงการ
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดหวังว่าจะมีกำไรที่ไม่รวมอัตราแลกเปลี่ยนจะทำได้มากกว่าในปีที่แล้ว หลังจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ยูนิต 3 และโรงไฟฟ้านวนครโคเจนเนอเรชั่น รวมถึงพยายามที่จะรักษาประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/58 อาจจะทำไม่ได้ตามที่คาดการณ์ หลังโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 1 ต้องหยุดซ่อมบำรุงราว 30-40 วันในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.58 ที่ผ่านมา
ด้านนายภาสกร ดังสมัคร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 2 ของ RATCH กล่าวว่า การที่บริษัทร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง CGN ก็มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันออกไปในภูมิภาคอื่นๆได้อีก เนื่องจาก CGN มีความต้องการที่จะขยายการลงทุนมาในลาว หรือในไทย นอกจากนี้บริษัทยังจะร่วมมือกับพันธมิตร อย่าง BANPU เพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ในโครงการ JAVA3 ขนาด 800 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้ด้วย หลังจากที่พลาดชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการ JAVA7 มาแล้ว
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างพิจารณาการเข้าร่วมลงทุน 20-30% ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน SUMSEL ในอินโดนีเซีย ขนาดราว 700-800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ โดยอาจจะดึงพันธมิตรบริษัทในกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อย่างบมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO)เข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่จะเริ่มมีความร่วมมือกันจากโครงการเล็กๆและต่อยอดไปโครงการขนาดใหญ่ได้