ดังนั้น การปรับเกณฑ์ครั้งนี้จะทำให้ตลาด mai กลายเป็นจุด focus ใหม่ของตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะมีจำนวนบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ขณะที่จำนวนบริษัทที่จะเข้าตลาด SET ก็อาจจะน้อยลง นอกจากนั้น ยังเกิดคำถามว่าบริษัทจดทะเบียนเดิมในตลาด SET ที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 500 ล้านบาท จะต้องย้ายมาอยู่ในตลาด mai หรือต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นไปให้เท่ากับเกณฑ์ใหม่หรือไม่
"บริษัทที่จะเข้าตลาด mai ส่วนใหญ่ทุนเกินกว่า 50 ล้านบาทอยู่แล้ว การเพิ่มเกณฑ์เรื่องทุนจดทะเบียนไม่ได้มีผล แต่การขยายฐานทุน SET อาจทำให้บริษัทที่เคยจะเข้าไปจดทะเบียนได้ ต้องย้ายไปเข้า mai แทน focus ก็จะไปอยู่ที่ mai มากขึ้น ส่วนหุ้นที่เข้า SET ได้ต้องเป็นบิ๊กแคปจริง ๆ" แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว มองว่าการขยายฐานทุนไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของ บจ. เพราะแต่ละธุรกิจมีความต้องการขนาดทุนแตกต่างกัน บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตอาจจะต้องมีทุนสูง ขณะที่บริษัทที่เป็นธุรกิจการให้บริการไม่จำเป็นต้องมีฐานทุนมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพแตกต่างกัน ดังนั้น การที่กำหนดเกณฑ์ฐานทุนสูงเพื่อคัดเลือกธุรกิจที่มีคุณภาพดีจึงไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูก
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหาน่าจะเป็นเรื่องการปรับมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ไม่ต่ำกว่า 0.50 บาท/หุ้น ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด และอาจจะทำให้จำนวนหุ้นที่เสนอขาย IPO มีจำนวนน้อยลง ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้มีการกระจายหุ้นอย่างเป็นธรรม แม้จะปรับเกณฑ์การกระจายหุ้นให้รายย่อยเพิ่มเป็น 25% ซึ่งถือว่าดี แต่ก็เห็นว่าน่าจะไปปรับที่วิธีการกระจายหุ้นมากกว่า เพราะตลท.ไม่เคยมีการกำหนดไว้
"การเพิ่มราคาพาร์ เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เพราะไปเหมาโหลไม่ได้ บริษัทส่วนใหญ่ที่มีพาร์ต่ำ ๆ ไม่ใช่กำหนดตอนช่วง IPO แต่มาทำเมื่อเข้าตลาดไปแล้ว หากตลาดฯ จะมองว่าการกำหนดราคาพาร์ให้เหมาะสมจะทำให้หุ้นไม่ถูกเก็งกำไรได้ง่ายๆ ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะที่เห็นอยู่นั้นบริษัทที่พาร์สูง ๆ ก็ยังมีการเก็งกำไรกัน ลากขึ้นลากลงกันได้เยอะแยะไป การเก็งกำไรอยู่ที่หลายมิติ ไม่ใช่ที่พาร์"แหล่งข่าว กล่าว