(เพิ่มเติม) PTT มั่นใจกำไรปีนี้ดีกว่าปีก่อน คาดขาดทุน NGV ลดวูบ,แผนธุรกิจถ่านหินชัดเจนใน 1-2 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 26, 2016 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท. (PTT) คาดกำไรสุทธิปีนี้จะดีกว่าระดับ 1.99 หมื่นล้านบาทในที่แล้ว หลังคาดว่าจะไม่มีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment) หลังในปีที่ผ่านมาได้ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ในธุรกิจหลักอย่างสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และธุรกิจถ่านหิน ไปมากแล้ว อีกทั้งคาดการขาดทุนจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ก็ลดลง ขณะที่คาดว่าแผนการดำเนินธุรกิจถ่านหินจะมีความชัดเจนมากขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้าว่าจะลงทุนเพิ่มหรือขายกิจการ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งทำให้คาดว่าจะไม่มีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์เพิ่มเติมในธุรกิจ E&P รวมถึงธุรกิจถ่านหินก็เพิ่งมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะที่กำไรสุทธิของปตท.ที่ลดลง 66% ในปีที่แล้วเป็นผลจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์มากถึง 5.47 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และธุรกิจถ่านหินของปตท.

แต่การตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าวในปีที่แล้ว เป็นเพียงการบันทึกตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของ ปตท.ที่ปัจจุบันมีเงินสดกว่า 2.39 แสนล้านบาท และเมื่อรวมทั้งกลุ่ม ปตท.มีเงินสด 3 แสนล้านบาท อีกทั้ง ปตท.ยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่จะเข้ามาในแต่ละปีด้วย โดยในปีที่ผ่านมามีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 2.84 แสนล้านบาท ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่เพิ่มเติมด้วย เพียงแต่การเข้าซื้อกิจการจะไม่เร่งรีบ เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“bottom line ปีนี้ดีขึ้น ปีที่แล้วเรามี impairment กว่า 5 หมื่นล้านบาท ปีนี้ไม่ได้ expect ว่าจะมี เพราะตามแผนธุรกิจเราเชื่อว่าจะยังอยู่ตามแผนที่เป็น new normal และ moderate return 2-3 ปีนี้ราคาน้ำมันคงค่อยๆปรับขึ้นคงไม่เร็ว ปีนี้อยู่ในกรอบ 35-40 ปีหน้าก็บวก 5-10 เหรียญฯ“นายวิรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ PTT ได้จัดทำแผนธุรกิจตามการประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบใน 3 แนวทาง ในช่วงปี 59-63 ได้แก่ กรณีระดับฐานใหม่ของราคาน้ำมัน (new normal) ที่คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่กรณีระดับน้ำมันปานกลาง (moderate return) ราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วง 50-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และกรณีฟื้นตัวเร็ว (quick return) ราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วง 60-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายวิรัตน์ เห็นว่าระดับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้จะเริ่มเห็นผู้ผลิตปิโตรเลียมมีการลงทุนในหลุมผลิตใหม่ๆน้อยลง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ในปีนี้ก็คาดว่าปีนี้ ปตท.จะมีผลขาดทุนจากธุรกิจ NGV ลดลงเหลือราว 5 พันล้านบาท จากปีที่แล้วที่ขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าวราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีนโยบายลอยตัวราคา NGV ขณะที่ราคาต้นทุนก๊าซฯก็ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นการคุ้มทุนของธุรกิจ NGV ในช่วงครึ่งหลังปีนี้หลังจากที่ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซฯปรับตัวลดลงมา

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า สำหรับการลงทุนธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียของกลุ่ม ปตท.นั้น ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินที่ตกต่ำจนทำให้ในปีที่ผ่านมาต้องมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ราว 1.94 หมื่นล้านบาท แต่ ปตท.ก็ยังเห็นโอกาสที่จะขยายงานเพิ่มเติมหากพบว่าธุรกิจถ่านหินยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ โดยอาจจะขยายการลงทุนในแหล่งผลิตที่มีอยู่แล้วก่อน จากนั้นจึงค่อยมองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม

“ถ่านหินเรากำลังดูอยู่ว่าจะขายหรือจะเพิ่ม 1-2 เดือนจะมีความชัดเจน ธุรกิจนี้ก็คล้ายๆกับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม...การตัดสินใจไม่ได้ดูแค่วันนี้ แต่เราต้องดูทิศทางธุรกิจว่าอนาคตถ่านหินมีหรือไม่ ตอนนี้โลกกำลังมองเรื่อง green energy ก็มีเรื่องเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้องดูว่าอนาคตถ่านหินไปทางไหน"นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ คาดว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และขณะนี้น่าจะผ่านระดับที่ต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามการที่ราคาน้ำมันในช่วงต้นปีได้ปรับตัวลงหลุดระดับกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ปตท.ก็ได้ศึกษาแผนการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมสอดแทรกในแผน new normal ในรูปแบบของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างช้า (slow recovery) โดยมองราคาน้ำมันจะอยู่ระดับเฉลี่ย 35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ แต่ก็ยืนยันว่าการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะไม่ถูกกระทบ แต่อาจจะต้องลดการลงทุนในส่วนของโครงการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ (growth) ตามความเหมาะสม ซึ่งตามงบลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) นั้นจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ราว 8.9 หมื่นล้านบาท หรือ 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด 2.97 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ทำแผนระดับแย่สุด (worst case) คาดว่าราคาน้ำมันลงไปถึงระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนใหม่ๆในธุรกิจ E&P เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งปัจจุบัน PTTEP ก็มีโครงการในแผนที่รอการพัฒนา 5-6 โครงการนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ยากเช่นเดียวกัน แต่ยืนยันว่าด้วยระดับราคาน้ำมันดังกล่าว PTTEP ยังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมได้ แต่ระดับการผลิตก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะคงไม่สามารถพัฒนาแหล่งผลิตใหม่ๆได้เพิ่มเติม แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันที่ต่ำก็จะทำให้อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันเข้าสู่จุดสมดุลได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการปรับกลยุทธ์ของ ปตท.เพื่อรับกับสถานการณ์ทุกแง่มุมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรตามกลยุทธ์ ROIC ได้แก่ Rationalization การบริหารจัดพอร์ตลงทุน โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นจุดแข็ง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก้าวออกจากธุรกิจที่เป็นจุดอ่อนในขณะนี้ เช่น การทยอยขายธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าปีนี้จะขายออกได้ทั้งหมดหลังปัจจุบันเหลืออยู่ 1 แห่ง , Optimization ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการการทำธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด, Integration เป็นการพิจารณาต่อยอดหรือลงทุนขยายธุรกิจ เพื่อบริหารความเสี่ยงและสร้างมูลค่าเพิ่ม และ Consolidation เป็นการควบรวมกิจการที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสความได้เปรียบทางการแข่งขันให้มากขึ้น โดยในกรณีนี้คาดว่าจะเห็นในกลุ่มบริษัทปตท.ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก่อน

นายเทวินทร์ กล่าวด้วยว่า ทิศทางธุรกิจในกลุ่ม ปตท.ปีนี้คาดว่าค่าการกลั่น (GRM) ของธุรกิจโรงกลั่นยังคงอยู่ระดับที่ดี ส่วนมาร์จิ้นโอเลฟินส์ยังได้รับแรงกดดันจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับลดลงตามาราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่อยู่ระดับต่ำราว 6-7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ยังเป็นโอกาสในการนำเข้า LNG เพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดได้หารือร่วมกันกับกระทรวงพลังงาน หลังกระทรวงต้องการที่จะชะลอการเก็บก๊าซฯในประเทศไว้ โดยอาจจะเป็นลักษณะการลดการเรียกก๊าซฯส่วนเกินจากสัญญาซื้อขายของแหล่งผลิตลง และหันมานำเข้า LNG เพิ่มเติม

นอกจากนี้ การเดินทางไปรัสเซีย พร้อมกับคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมานั้น ได้มีการหารือและมีโอกาสที่จะร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างกัน เนื่องจากปัจจุบันรัสเซียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซฯ และกำลังมองหาตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ปตท.จะซื้อน้ำมัน ,ร่วมลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงแหล่ง LNG และการนำเข้า LNG โดยได้ศึกษาความเป็นได้ร่วมกันซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนหากพบว่ามีความเป็นไปได้ก็มีโอกาสที่จะร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) ระหว่างกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ