(เพิ่มเติม) ADVANC รุกก้าวสู่ Digital Service มั่นใจฝ่ายเทคนิคแกร่งไม่ห่วงคลื่นน้อย-ดันโอน 2G ครบแม้กด EBITDA Margin ร่วง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 7, 2016 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ลั่นทวงคืนตำแหน่งผู้นำกลุ่มผู้ให้บริการระบบสื่อสาร แตกไลน์ต่อยอดจากโอเปอเรเตอร์โทรมือถือรุกก้าวไปสู่ดิจิตอลเซอร์วิส (Digital Service) เต็มตัว ไม่ห่วงจำนวนคลื่นในมือน้อยกว่ารายอื่น มองประเด็นสำคัญอยู่ที่เทคโนโลยีสูงหนุนคุณภาพบริการ ย้ำแพ้ประมูลคลื่น 900 MHz เหตุราคาสูงเกินความคุ้มค่าทางธุรกิจ และหากมีผู้ที่ไม่สามารถไปชำระเงินตามกำหนดแล้ว กสทช.เปิดประมูลใหม่ด้วยราคาที่ชนะประมูลเดิมมาเป็นราคาตั้งต้นก็คงจะไม่เข้าร่วม แต่ยังยืนยันเร่งย้ายลูกค้า 2G มา 3G ไม่ให้ตกหล่น แม้ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่กดดัน EBITDA Margin ปีนี้ลดวูบ ตั้งเป้าประคองตัวเพื่อเติบโตฉลุยในปีต่อไป

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ADVANC กล่าวว่า เอไอเอส วางกลยุทธสำคัญในปีนี้เพื่อทวงคืนภาพลักษณ์ของผู้นำในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านคลื่นความถี่ 2100 MHz และ 1800 MHz ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อปีก่อน โดยจะเดินหน้าพัฒนาโครงข่าย 4G ให้ครอบคลุม พร้อมทั้งต่อยอดการให้บริการเพื่อก้าวสู่ Digital Service แม้ว่าจะต้องเสียใบอนุญาต 900 MHz ไป

"ปีนี้กลยุทธต้องทำให้ Leadership มาเป็นที่ 1 หลังจากปีที่แล้วภาพถูกลดทอนลงไปจากการที่เราประมูลคลื่น 900 MHz ไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีอาวุธครบมือ เพราะใน 2 เดือนแรกของปี (พื้นที่ให้บริการ 4G) เราเปิดเพิ่มไปเป็นกว่า 50 จังหวัด กลางปีน่าจะเป็น 77 จังหวัดแม้ว่าจะยังไม่ครบทุกพื้นที่แต่ในตัวเมืองต้องมี 4G ของเอไอเอสใช้ และสิ้นปีโครงข่ายจะครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากร"

"...การมีคลื่นเยอะย่อมดีกว่ามีคลื่นน้อยก็จริง แต่ถ้าแพงมากก็ไม่จำเป็น หากการประมูลใหม่จะมีราคาตั้งต้นที่ 75,000 ล้านบาท เราก็เห็นว่าไม่เหมาะสม" นางสาวนัญยา กล่าว

ผู้บริหารของเอไอเอสได้ร่วมกันวางแผนธุรกิจใหม่ทันทีที่ตัดสินใจยุติการเคาะประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งได้กำหนดงานสำคัญในปีนี้ โดยเฉพาะประเด็นเฉพาะหน้า คือการรองรับลูกค้าในระบบ 2G ที่ยังมีอยู่กว่า 12 ล้านราย โดยบริษัทยืนยันถึงความสำคัญที่จะปกป้องลูกค้าทุกราย แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ของลูกค้าในกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกันมาก โดยบริษัทได้จัดแคมเปญหลักในการแลกเครื่องโทรศัพท์ใหม่ที่เน้นการดำเนินการผ่านองค์การบริหารท้องถิ่นเพื่อให้เข้าถึงรายย่อยได้มากที่สุด ทำให้ขณะนี้มีลูกค้า 2G ย้ายมาใช้บริการ 3G ของบริษัทแล้วประมาณ 5 ล้านราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อรอรับเครื่องในล็อตใหม่ และในเดือน มี.ค.นี้จะมีโทรศัพท์ล็อตใหม่เข้ามาอีก

"ลูกค้า hi-end ได้รับการเทคแคร์ไปแล้วระดับหนึ่ง ทำให้ส่วนใหญ่ย้ายไป 3G แล้ว และแม้ว่า ARPU ลูกค้าระดับล่างจะไม่มาก แต่เราก็ยังพยายามปกป้องลูกค้าไว้ทั้งหมด เพราะถึงสูญเสียรายได้ไปแค่ 1-2% เราก็แคร์"นางสาวนัฐยา กล่าว

นอกจากนั้น อีกงานสำคัญในปีนี้คือ การเพิ่ม capacity ของโครงข่ายให้บริการบนคลื่น 2100 MHz เพื่อปิดจุดบอด (black spot) ให้ครบทุกจุด หลังจากที่ coverage ของบริการ 3G อยู่ในระดับ 98% แล้ว เนื่องจากอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสูงขึ้นอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 58 สูงขึ้นมาที่ 2GB/คน/เดือน จาก 1GB/คน/เดือน แม้ว่าเดิมเอไอเอสจะมีคลื่นความถี่ในมือน้อยกว่าคู่แข่งแต่จากการใช้เทคโนโลยีสูงทำให้สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประคองตัวไปได้

แต่ขณะนี้มีคลื่น 1800 MHz เข้ามาเพิ่มอีก 15 MHz แล้ว อีกทั้งยังรอการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ทีโอที (TOT) เพื่อพัฒนาบริการจากคลื่นความถี่ในมืออีก 15 MHz ทำให้ปีนี้เอไอเอสจะมีคลื่นความถี่ในมือรวมกันเป็น 45 MHz

ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะแตกไลน์การให้บริการใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ อย่างที่ได้เปิดให้บริการ M-pay ไปแล้วก่อนหน้านี้ ในปีนี้ก็จะรุกหนักเพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้ รวมทั้งการเปิดบริการ AIS Play เป็นต้น ที่จะเป็นรายได้เข้ามาเสริมอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจาก life style ของลูกค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริษัทมีเป้าหมายในการให้บริการในรูปแบบ Digital Service เพื่อให้มี share of wallet ของลูกค้าเพิ่มขึ้น

ส่วนบริการฟิกซ์ บรอดแบนด์ในปี 58 มีลูกค้าแล้ว 4.4 หมื่นราย ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายจะเป็น 1 ในผู้เล่นหลักของกลุ่มผู้ให้บริการดังกล่าวภายใน 3-5 ปี ขณะที่คาดว่าตลาดรวมมีผู้ใข้บริการจะขยายตัวเป็น 8-9 ล้านราย จาก 6.5 ล้านรายในปัจจุบัน ดังนั้น หมายความว่าบริษัทจะต้องมีส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 2 ล้านราย แต่ในระยะสั้นคงยังไม่เห็นกำไร เพราะยังอยู่ในช่วงของการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการที่จะต้องนำไปก่อนการทำตลาด โดยขณะนี้ขยายไปแล้วใน 12 จังหวัด และปีนี้จะขยายเป็น 24 จังหวัด ภายใต้งบลงทุนราว 7 พันล้านบาท

นางสาวนัฐิยา กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าการแข่งขันในตลาด 2G และ 3G ยังคงดุเดือดแม้ว่าบริษัทจะมีรายได้จากบริการอื่น ๆ เช่น เอไอเอส ไฟเบอร์ และฟิกซ์ บรอดแบนด์เข้ามาเพิ่มแต่บริษัทยังคาดว่ารายได้ในปีนี้คงยังไม่เติบโตจากปีก่อน ซึ่งเป็นการมองอย่าง conservative ขณะที่อัตรา EBITDA Margin ในปีนี้จะลดลงมาเหลือ 37-38% ของรายได้รวม ซึ่งต่ำกว่า 45% ในปีก่อน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในการดูแลลูกค้า 2G ทั้งการทำโปรโมชั่นแจกเครื่อง 3G และการทำข้อตกลงโรมมิ่งกับเครือข่ายของ DTAC เพื่อรองรับการให้บริการกับลูกค้าที่ยังย้ายมาไม่ทัน โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ราว 8 พันล้านบาทในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปิดไตรมาส 1/59 ที่จะมีการสรุปผลประกอบการ เอไอเอสก็จะมีการทบทวนคาดการณ์ EBITDA Margin อีกครั้ง หลังจากสามารถย้ายลูกค้าจาก 2G มาได้ค่อนข้างมากแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ