กสท.เผยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลปีนี้ฟื้นตัวตามผู้ชมเพิ่ม-ยอดโฆษณาสูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 24, 2016 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กิจการกระจายเสียง. กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์. (กสท.). กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในการประชุมหารือกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนนั้น ผู้ประกอบการหลายรายระบุว่าปีนี้เริ่มเห็นทิศทางผลการดำเนินงานไปได้ด้วยดี เพราะสื่อโฆษณาเข้ามาทีวีดิจิตอลแต่ละช่องดีขึ้น อัตราค่าโฆษณามาจากการเก็บยอดผู้ชมในปี 58 ที่มีสัดส่วนถึง 40% สูงขึ้นจากปี 57 ที่มีสัดส่วนเพียง 27% ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถแข่งขันแย่งผู้ชมระดับ mass ก็พยายามหันมาจับผู้ชมกลุ่มเฉพาะ เช่น กีฬาฟุตบอล มวยไทย เป็นต้น

"เรามีการประชุมร่วมกันทุกเดือน ผู้ประกอบการหลายรายก็บอกว่า ถ้าปีนี้ตลาดมันไปได้ด้วยดีอย่างนี้ คิดว่าปีหน้าก็น่าจะโอเคแล้ว" ประธาน กสท. กล่าว

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค.59 สัดส่วนผู้ชมช่องรายการเดิมต่อช่องรายการใหม่(ทีวีดิจิตอล)เพิ่มขึ้นเป็น 58.7% ต่อ 41.3% จากสิ้นปี 58 อยู่ที่ 62% ต่อ 38% สะท้อนว่าผู้ชมหันมารับชมดิจิตอลทีวีมากขึ้นและเชื่อว่าหลังจากนี้จำนวนผู้ชมดิจิตอลทีวีจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ให้บริการดิจิตอลทีวีหันมาให้ความสำคัญเนื้อหาของรายการ ซึ่งมีความหลากหลายและมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ชม

จากการเก็บข้อมูลของ Nielsen ในช่วง 1-21 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า 10 อันดับแรกมีข่องทีวีดิจิตอลเข้ามา 7 ช่อง โดย ช่อง 7 ยังครองอันดับ 1 ตามมาด้วยช่อง 3 HD เป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ ช่องเวิร์คพ้อยท์ อันดับ 4 ช่องโมโน อันดับ 5 ช่อง 8 (ของ RS) อันดับ 6 เป้นช่องone (ของ GRAMMY) อันดับ 7 เป็นช่อง 3SD อันดับ 8 เป็นช่อง 9 HD อันดับ 10 เป็นช่อง Treu4U และอันดับ 10 เป็นช่องไทยรัฐทีวี

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุว่า ช่องข่าว และช่องเด็ก แม้จะมีผู้ชมจำนวนน้อยกว่าช่องวาไรตี้ แต่มีกลุ่มผู้ชมที่มีระดับรายได้สูงซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้ลงโฆษณาได้ ได้แก่ ช่อง TNN24 , เนชั่นทีวี , สปริงนิวส์ , ไทยพีบีเอส , ชอ่ง3 Family เป็นต้น

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผล (กตป.) ได้แถลงว่าการทำงานของ กสทช. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบ่งบอกถึงความล้มเหลวในการทำงานเกี่ยวกับทีวีดิจิทัลนั้น พ.อ.ทนี กล่าวว่า อาจเกิดจากการได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในขณะนี้ สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุน เตรียมความพร้อม และจัดการกับประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

"กตป.แถลงคลาดเคลื่อนเยอะพอสมควร ครั้งนี้มาชี้แจงให้สาธารณะได้รับรู้ว่าในช่วงเวลา 4 ปีเศษ กสทช.ได้ดำเนินการได้ค่อนข้างมาก การทำตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ได้มากกว่า 90%"พ.อ.นที กล่าว

ประธาน. กสท.กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.59 การติดตั้งสถานีโครงข่ายสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลทีวีคิดเป็น 85.9% ของทั้งประเทศ เป็นไปตามแผนการขยายโครงข่ายและพื้นที่ครอบคลุมตามที่การกำหนดไว้ แต่การรับสัญญาณในแต่ละพื้นที่ที่จะแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับระยะห่างจากสถานีส่งสัญญาณและสภาพแวดล้อมในพื้นที่นั้น โดยในเดือน มิ.ย.59 จะครอบคลุม 90% และ ในเดือน มิ.ย. 60 ก็จะครอบคลุมได้ 95% ส่วนที่เหลือ 5% อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาก ก็อาจจะครอบคลุมในส่วนนี้ไม่ได้หมด

อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ได้ทำระบบตรวจสอบพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณทีวีดิจิตอล (DTV Service Area) รองรับการใช้งานของประชาชนหากเกิดปัญหาต่างๆ ส่วนในด้านแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกนั้น ก็ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่จะสิ้นสุดการส่งสัญญาณระบบแอนะล็อกของช่อง 5 ช่อง 9 ช่อง 11 และ ThaiPBS เรียบร้อยแล้ว โดยจะทยอยยุติการส่งสัญญาณฯ ของทั้ง 4 รายภายในเดือน ก.ค. 61

ในส่วนของการแจกคูปองดิจิตอลทีวีนั้น ข้อมูลจากการแจกคูปองล็อตล่าสุดที่หมดอายุในวันที่ 31 ม.ค. 59 พบว่า มีประชาชนได้นำคูปองไปแลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 64% ของคูปองที่แจกไปทั้งหมด และขณะนี้ สำนักงาน กสทช. กำลังเร่งแจกคูปองเพิ่ม ตามที่ คสช. ได้อนุมัติตามมติ คตร. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 59 โดยเห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน กสทช. แจกคูปองเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ข้อมูลที่แสดงมาจากสำนักงาน กสทช.ที่เก็บสถิติมาต่อเนื่อง ขณะที่ กตป.ใช้ข้อมูลจากการทำประชาพิจารณ์ประชาชน ซึ่งเป็นเพียงการรับรู้ความรู้สึกว่าไม่ได้รับชมทีวีดิจิตอลในบางพื้นที่

นอกจากนี้ ในส่วนของวิทยุดิจิตอล (Digital radio) นั้น ได้มีการเริ่มดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 56 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 59 กสท. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงเนื้อหาร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง และคาดว่าจะเริ่มทดลองระบบรับส่งภายในปี 61

ส่วนเรื่องการขอรับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จากข้อมูล ณ วันที่ 21 มี.ค. 59 พบว่า มีจำนวนสถานีที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงแล้วทั้งหมด 5,727 สถานี แบ่งเป็นวิทยุบริการทางธุรกิจ 4,074 สถานี บริการสาธารณะ 1,105 สถานี และ บริการชุมชนหรือวิทยุชุมชน 548 สถานี ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเกินไป ขณะที่ทรัพยากรมีเพียงพอรองรับได้ประมาณกว่า 1,000 สถานี ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามลดจำนวนสถานีลง จากเมื่อปี 54 มีจำนวน 8,204 สถานี ซึ่งเป็นสถานีที่ไม่ได้รับการอนุญาต ต่อมาได้ออกกฎเกณฑ์ ทำให้จำนวนสถานีค่อยๆทยอยลดลง และในปี 57 หลังเหตุการณ์รัฐประหารมีสถานีวิทยุเข้าสู่ระบบใหม่ซึ่งได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 5,657 สถานี

"ผู้ประกอบการวิทยุค่อยๆลดลงมา ประมาณ 40% โดยสถานีที่นำไปขายตรงทำไม่ได้ ไปใช้เป็นสื่อทางการเมืองก็ไม่ได้ จำนวนกิจการวิทยุมีมาก ก็ต้องพิจารณ 2 แนวทาง คือ ลดจำนวนสถานี และเพิ่มทรัพยากร ซึ่งถ้าเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิตอลจะทำให้ขยายเป็น 2,000 - 3,000 สถานีก็จะมีสถานีเพิ่มขึ้นไว้รองรับ" ประธาน กสท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ