(เพิ่มเติม) UU คาดเสนอขาย IPO 420 ล้านหุ้นเข้าตลาด SET ภายใน Q3/59

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 20, 2016 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ (UU) ในกลุ่ม บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) คาดว่าจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 420 ล้านหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ได้ภายในไตรมาส 3/59 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบคำขออนุญาต (ไฟลิ่ง) แล้ว โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน UU เปิดเผยว่า UU จะกำหนดวันเสนอขายหุ้น IPO และนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายหลังจากการนำเสนอข้อมูลต่อนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่สนใจ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

"UU จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงต้นไตรมาส 3/59 หลังได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อก.ล.ต. เพื่อที่จะขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชานทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 420 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 45% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระทั้งหมดของบริษัทฯภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ ซึ่งล่าสุด ก.ล.ต. ได้นับ 1 ไฟลิ่ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว"นายประเสริฐ กล่าว

ปัจจุบัน UU มีทุนจดทะเบียน 930 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 930 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนที่ออกจำหน่ายและชำระแล้วทั้งหมดจำนวน 510 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกไม่เกิน 420 ล้านหุ้น ซึ่งการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้กำหนดสัดส่วนเสนอขายหุ้นเพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 353 ล้านหุ้น ส่วนอีกไม่เกิน 67 ล้านหุ้นจะเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของ EASTW (Pre-emptive Right)

ทั้งนี้ UU เป็นผู้นำธุรกิจบริหารกิจการประปาอย่างครบวงจร ที่ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทฯ และบริษัทย่อย 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ประปาฉะเชิงเทรา จำกัด บริษัท ประปาบางปะกง จำกัด บริษัท ประปานครสวรรค์ จำกัด และบริษัท เอ็กคอมธารา จำกัด โดยสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามวิธีการผลิตน้ำประปาได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกิจการประปาผิวดิน และกลุ่มกิจการประปาจากน้ำทะเล

การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่คู่สัญญา ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ หรือการจำหน่ายโดยตรงแก่ผู้ใช้น้ำรายย่อย ทั้งนี้ บริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบบริหารกิจการประปาในหลายพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การลงทุนและบริหารโครงการทั้งหมด ในรูปแบบสัญญาต่างๆได้แก่ BOO (Build-Own-Operate) BTO (Build-Transfer-Operate) BOOT (Build-Own-Operate-Transfer) และ Lease ตลอดจนการรับจ้างบริหารกิจการประปาให้แก่ EASTW ซึ่งสัญญาในการดำเนินธุรกิจทั้งหมดเป็นสัญญาระยะยาว 15-30 ปี

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล รักษาการกรรมการผู้จัดการ UU กล่าวว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์และความชำนาญการบริหารกิจการประปาอย่างครบวงจร ด้วยจุดแข็งด้านการดำเนินธุรกิจที่นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบรีเวอร์ส ออสโมซีส (Reverse Osmosis) หรือการแยกเกลือออกจากน้ำมาใช้เป็นรายแรกของไทย ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของไทยภายใต้สัญญาร่วมทุนจากหน่วยงานราชการ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่การผลิตน้ำประปาและสามารถส่งจ่ายน้ำให้กับประชาชนหรือนักท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังทำสัญญาร่วมทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำประปากับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลในรูปแบบสัญญาสัมปทานและรับจ้างบริหารกิจการประปาระยะยาว ทำให้บริษัทฯ สามารถลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำประปา อีกทั้งยังสามารถช่วยเหลือภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั้งด้านการขยายเขตจำหน่ายน้ำ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าสูงสุด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเข้าประมูลแข่งขันเพื่อเข้าพัฒนาบริหารกิจการประปาใหม่ๆ เพิ่มเติมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำประปาเพื่ออุปโภคและบริโภคในอนาคต

ส่วนผลการดำเนินงานในรอบปี 58 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,272 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 187.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับปี 57 ที่มีกำไรสุทธิ 118.6 ล้านบาท โดยมาจากรายได้จากการจำหน่ายน้ำประปาซึ่งเป็นรายได้หลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ในปี 59 บริษัทฯ คาดรายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และมีอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน 14.8% เนื่องจากในปีนี้บริษัทฯจะมีการรับรู้รายได้จาก บริษัท เอ็กคอมธารา จำกัด เข้ามาเต็มปี ในขณะที่ปริมาณการขายน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯได้มีการปรับขึ้นราคาขายน้ำเฉลี่ย 1-2% ต่อยูนิต/ต่อปี

"การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ เพื่อที่จะนำเงินที่ได้นั้นไปชำระหนี้ส่วนที่ใช้ซื้อกิจการบริษัท เอ็กคอมธารา จำกัด ไป 1,600 ล้านบาท และส่วนที่เหลือก็ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และขยายกิจการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และจะเห็นได้จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมากขึ้นด้วย ซึ่งเราก็เป็นผู้จำหน่ายน้ำสะอาด ที่มีการควบคุมคุณภาพเป็นอย่างดีก่อนที่จะจ่ายน้ำออกไป ทำให้ปริมาณการขายมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง" นายเชิดชาย กล่าว

สำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นนั้น ทางบริษัทฯไม่ได้มีความกังวล ซึ่งบริษัทฯมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงในส่วนของจังหวัดนครสวรรค์ แต่บริษัทฯก็ได้มีการแก้ไขโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการชักรอกน้ำให้ดีขึ้น ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา บริษัทฯก็ได้นำน้ำมาจากคลองชลประทานและปรับน้ำให้มีคุณภาพซึ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นผลกระทบต่อรายได้แต่อย่างได ขณะที่เดือน พ.ค. เป็นต้นไปก็เชื่อว่าจะเกิดลานินญ่า ก็จะมีน้ำเข้ามาเติมแหล่งน้ำของบริษัทฯ ซึ่งในระยะยาวบริษัทฯจะมีการปรับแผนเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้บริษัทฯได้เตรียมงบลงทุนไว้ราว 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนขยายกำลังการผลิตน้ำประปา โดยเบื้องต้นมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก 12,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ที่บ่อวิน จังหวัดชลบุรี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ 380,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

นอกจากนี้บริษัทฯยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่น ในประเทศ ลาว พม่า และเวียดนาม เพื่อที่จะเข้าลงทุนธุรกิจน้ำประปา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากบริษัทฯเล็งเห็นถึงความต้องการใช้น้ำที่มีคุณภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ