มอร์นิ่งสตาร์ฯเผยกองทุนรวม H1/59 โตกว่า 8.73% นลท.หันลงทุนช่วงภาวะตลาดผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2016 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 59 มีอัตราการเติบโตสูงกว่าเมื่อปี 58 ที่ผ่านมาทั้งปีที่ 8.73% โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.42 ล้านล้านบาท เป็นผลจากความกังวลและความผันผวนที่มีอยู่อย่างมากในตลาดการลงทุนทั่วโลก ทำให้นักลงทุนไทยเริ่มหันมาลงทุนในกองทุนรวมกันมากขึ้น เนื่องจากเริ่มเห็นประโยขน์จากการลงทุนที่ได้กระจายความเสี่ยง

นอกจากนี้ในของเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่ไหลเข้าอุตสาหกรรมสูงจะทะลุ 319,733 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของทั้งปี 58 เพียงแต่นักลงทุนยังคงเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและรวมถึงในกองทุนที่เน้นลงทุนแบบระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลถึงความผันผวนของเม็ดเงินไหลเข้าออกในอุตสาหกรรม

โดยครึ่งปีแรก 59 ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด นำมาโดยกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้งสิ้น ได้แก่ Mid/Long Term Bond, Global High Yield Bond Fix Term และ Foreign Investment Bond Fix Term โดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิน 114,797 , 103,657 และ 49,025 ล้านบาท ตามลำดับ

ประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มกองผสมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนผสมที่ลงทุนในต่างประเทศ Global Allocation ที่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนสุทธิเข้าอุตสาหกรรมได้สูงถึง 31,040 ล้านบาท ในทางกลับกันจะสังเกตได้ว่ากลุ่ม Money Market จากที่เคยเป็นแหล่งพักเงินหลักของนักลงทุนในช่วงที่ขาดความมั่นใจในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงนั้นกลับไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากอัตราผลตอบแทนที่ไม่เป็นที่จูงใจมากนักตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

ส่วนการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีการเติบโตอย่างเนื่องต่อแต่ด้วยอัตราที่ลดลงหรือเริ่มชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีกองทุนเปิดใหม่กว่า 32 กองทุนในช่วงที่ผ่านมาแต่กลับสามารถทำยอด เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้เพียง 13,302 ล้านบาทเท่านั้น และรวมไปถึงเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่มดังกล่าวนี้ก็ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่แล้วกว่า 66% โดยครึ่งปีแรกนี้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิเพียง 24,383 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกปี 58 อยู่ที่ 72,000 ล้านบาท

สำหรับเม็ดเงินที่ไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่ม กองทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ไหลไปยังกลุ่ม Global Allocation ที่ในปีนี้ทางบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) มีการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า Global Income Fund มาขายและได้รับความนิยมจากนักลงทุนค่อนข้างสูง แต่เป็นที่น่าสังเกตในรายละเอียดของกองทุนทั้งหมดนั้นไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลซึ่งดูจะขัดกับชื่อของกองทุน ขณะที่กองทุน Commodities Precious Metals (ทองคำ) เริ่มมีนักลงทุนนำเงินออกหลักจากที่ทำผลตอบแทนได้ดีในครึ่งปีแรกนี้ โดยมีเงินไหลออกกว่า 4,186 ล้านบาท

โดยในกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงครองความเป็นเจ้าตลาดอยู่โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด 34% แต่ลดลงจากระดับ 38% ในปี 58

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) นั้นมีเงินไหลออกสูงถึง 7,386 ล้านบาท (หุ้นขนาดใหญ่ Equity Large Cap -8,128 ล้านบาท หุ้นขนาดกลางและเล็ก Equity Small/Mid Cap 743 ล้านบาท)โดยเป็นผลมาจากนักลงทุนขายทำกำไรอันเนื่องมาจากผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในกลุ่มนี้ยังคงโตจากปีที่แล้ว 7.11% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 169,741 ล้านบาท โดยกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ลงทุนยังคงเป็นแชมป์เก่าหน้าเดิมกองทุน Krungsri Dividend Stock ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 2,555 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 2 ก็คือ TISCO Mid/Small Cap Equity กองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดประจำปี 58 นั้นเองที่ 416ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นของกองทุน CIMB-Principal (FAM) EEF จาก บลจ. ซีไอเอ็มบี ที่ 214 ล้านบาท สำหรับกองทุนประเภท Trigger fund ครึ่งปีแรกนี้มี Trigger fund เปิดขายใหม่เพียง 13 กองทุนและทำยอด IPO รวมทั้งสิ้นได้ไม่ถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับช่วงเวลาที่เป็นที่ Trigger fund เป็นที่นิยม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยออกกันอย่างคึกโคม ตัวอย่างเช่นเมื่อครึ่งปีแรก 58 มีออกกองทุน Trigger fund กว่า 68 กองทุน โดยทำยอด IPO ได้สูงกว่า 30,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันยังมีกองทุน Trigger fund ทั้งสิ้นกว่า 200 กองทุนที่ยังทำผลตอบแทนไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินคงค้างกว่า 36,000 ล้านบาท ความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลกที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงช่วงนี้ และรวมไปถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน และล่าสุดกับผลการลงประชามติออกจากยูโรโซน ของสหราชอาณาจักร นั้นส่งผลให้ผลตอบแทนกองทุนโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นในต่างประเทศติดลบกันทั่วหน้า

ดังนั้น ความโดดเด่นของผลตอบแทนในช่วงครึ่งปีแรกนี้ อยู่ในกลุ่มทุนทองคำ ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 20.74% ตามมาด้วยกลุ่ม Property Indirect ที่ยังคงทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยครึ่งปีแรกนี้ทำได้เฉลี่ย 16.43% ขณะที่กลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่ม Equity Large Cap และ Equity Small/Mid Cap สามารถทำได้เฉลี่ย 10% และ 9.20% ถึงแม้ว่าดัชนี SET Index จะโตกว่า 12.46% ก็ตาม

ขณะที่กลุ่มดาวเด่นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีเมื่อปี 58 ที่ผ่านมานั้นทั้ง กลุ่ม Japan Equity กลุ่ม Healthcare และกลุ่ม Europe Equity ในครึ่งปีแรกนี้ล้วนแต่ทำผลตอบแทนได้ติดลบทั้งสิ้นที่ -16.24%, -10.96% และ -8.36% ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นต่างทำผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีทั้งส่วนที่ลงทุนในและต่างประเทศ ยกเว้นแต่กลุ่ม Money Market ที่ผลตอบแทนน้อยลงไปมากโดยทำได้เฉลี่ยเพียง 0.55% ส่วนกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่ 0.86% และ 1.65% ขณะที่กลุ่ม Emerging Market Bond นั้นโดดเด่นอย่างมากที่เฉลี่ยผลตอบแทน 8.36% ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันนั้นก็เริ่มดีขึ้นบ้างโดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผลตอบแทนสูงถึง 17.4% แต่อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมยังมีความผันผวนอยู่มาก

สำหรับกองทุน LTF และ RMF ในครึ่งปีแรกนี้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนทั้ง 2 ประเภทยังคงโตอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตจนใกล้ทะลุ 300,000 ล้านบาท แต่เพิ่มเพียงเล็กน้อยที่ 5.86% ขณะที่ RMF ก็เช่นเดียวกันโตเพียงเล็กน้อยที่ 5.81% ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาอยู่ที่ 189,621 ล้านบาท

แต่หากมองในส่วนของเม็ดเงินสุทธิที่ไหลเข้าออกกองทุนทั้ง 2 ประเภทนั้น มีมากถึง 10,623 ล้านบาท สูงสุดนับแต่ปี 56 (นับเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก) ขณะที่ RMF นั้นก็เช่นเดียวกันมีเงินไหลออกกว่า 1,256 ล้านบาท สูงสุดตลอดกาล รวมทั้งครึ่งปีแรกนี้มีกองทุน RMF ออกใหม่เพียงแค่กองทุนเดียวเท่านั้นจึงขาดแรงกระตุ้นอีกแรงหนึ่ง ดังนั้น เชื่อได้ว่าเม็ดเงินลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ยังคงจะไปกระจุกตัวกันในช่วงท้ายของปีเช่นเดิม อีกทั้งการที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ในการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์เป็นปีแรกจากที่ลงทุน 5 ปีเป็น 7 ปีปฎิทินซึ่งอาจส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนสุทธิทั้งปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ