โบรกฯเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) มองโอกาสกำไรยังจะทำจุดสูงสุดต่อเนื่องทั้งรายไตรมาส และรายปี โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโต 40% และปี 60 เติบโตต่อเนื่องอีก 20% โดยเฉพาะจากการขยายกำลังการผลิตเฟส 3 ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มอีก 24% หนุนการเติบโตของกำไร และจากการที่อยู่ในธุรกิจ PCB กลุ่มยานยนต์ จึงยังมองเป็นอนาคตธุรกิจจะเติบโตได้อีกมาก
ส่วนการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ เน้นหนักที่ตลาดยุโรป ประเมินน้ำหนักผลกระทบต่อรายได้ในไตรมาส 2-4/59 จากค่าเงินยูโรอ่อน ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า เชื่อว่า กรณีเลวร้ายสุดกระทบราคาหุ้นที่ 4.47 บาท แต่บริษัททำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน และอีกบางส่วนลูกค้ายุโรปจ่ายเป็นดอลลาร์ ดังนั้น กรณีดีสุดเชื่อว่าจะกระทบราคาหุ้นเพียง 0.80 บาท
ขณะที่การขยายธุรกิจใหม่ไปสู่การผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ เป็นการต่อยอดจากการกำจัดของเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งมองว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจทางหนึ่ง
โบรกฯ คำแนะนำ ราคาพื้นฐาน(บาท) บล.กสิกรไทย ซื้อ 94 บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 90 บล.กรุงศรี ซื้อ 95 บล.ทรีนีตี้ ซื้อ 93.66 บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ซื้อสะสมเมื่ออ่อนตัว 105นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย แนะ"ซื้อ"หุ้น KCE โดยยกให้เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดกำไรสุทธิจะทำจุดสูงสุดต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/59 และไตรมาส 3/59 ขณะที่ปีหน้ายังมีแรงผลักดันการเติบโตระลอกใหม่จากการขยายกำลังการผลิตโรงงานลาดกระบังเฟส 3 ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 23.7% เริ่มตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/59 เชื่อว่าจะผลักดันให้กำไรเติบโตขึ้นราว 38% ในปี 59 จากนั้นจะเติบโต 21% และ 19% ในปี 60 และปี 61 ตามลำดับ
ส่วนการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรมูลค่า 250 ล้านบาทในบริษัท เคซีอี เทคโนโลยี จำกัด (KCET) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตรวมให้เพิ่มขึ้นเป็นบวก โดยกำลังการผลิตใหม่จะพร้อมใช้งานราวต้นปี 60 และการจัดตั้งบริษัทย่อย 70 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจผลิตและซื้อขายสารเคมี ส่วนนี้น่าจะเป็นธุรกิจต่อยอดจากการกำจัดของเสียในกระบวนการผลิต มองเป็นการต่อยอดธุรกิจ
"กำไรสุทธิทำนิวไฮรายไตรมาส เพราะมีเรื่องของการขยายกำลังการผลิต ส่วนใช้เงินปรับปรุงเครื่องจักรไม่มาก 200-300 ล้านบาท เทียบกับเงินสดในมือเยอะ กำไรปีเกือบ 3,000 ล้านบาท แต่ถึงจะกู้ไม่เป็นไปไรเพราะดอกเบี้ยถูกมาก ส่วนบริษัทลูกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีก็จะทำให้โปรดักส์ที่ซื้อขายมีคุณภาพ ทำให้ธุรกิจขยายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดีมากขึ้น"นายประกิต กล่าวนายวรพงศ์ ตันติวุฒิพงศ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า ปี 59 กำไรของ KCE ยังเติบโตได้ 40% และปี 60 เติบโตต่อเนื่องอีก 20% มาจากกำลังผลิตของโรงงานแห่งใหม่ อีกส่วนหนึ่งมาจากอัตรากำไรขั้นต้นก้าวกระโดดขึ้นมาจากปี 58 ค่อนข้างมาก เพราะในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการลงทุนโรงงานแห่งใหม่เฟสที่ 2 แต่ปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ KCE โดยแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/59 จะเติบโตจากไตรมาสกาอนหน้าและทำนิวไฮ จากนั้นะไตรมาส 3/59 ก็จะทำนิวไฮต่ออีก เพราะการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเฟสที่ 3 จะเริ่มเปิดดำเนินการ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของกำไรในครึ่งหลังของปีนี้ดีต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 60 คาดว่าโรงงานเฟส 3 จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 24% จากปัจจุบัน ซึ่งก็จะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้อีก 2 ปีต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 12-15% และหลังปี 61 บริษัทก็มีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่องในปี 61-63
เนื่องจากไตรมาส 1/59 มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 34-35% เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 15-16% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 21% สูงกว่าทั้งปี 58 ที่ 17% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 5-6% ดังนั้น ปีนี้ความสามารถในการทำกำไรของ KCE จะสูงมาก เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถเกลี่ยมาร์เก็ตแชร์มาจากคู่แข่งเจ้าอื่นได้เรื่อยๆ
และต่อให้เปิดโรงงานแห่งใหม่ ยอดขายก็ยีงจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน เพราะตลาด PCB ของยานยนต์ถูกกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลค่อนข้างน้อย และเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งเชื่อว่า KCE จะสามารถเติบโตแซงภาพรวมอุตสาหกรรมได้ด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และราคาหุ้นก็น่าจะวิ่งตามกำไรที่ถูกขับเคลื่อนโดยการขยายกำลังการผลิต
นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า KCE มีการเติบโตของกำไรที่ดี มองธุรกิจผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในกลุ่มออโตโมทีฟ ธุรกิจยังมีแนวโน้มสดใส บริษัทยังเติบโตต่อไปได้อีกมาก
บทวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แนะ"ซื้อสะสมเมื่ออ่อนตัว"เป้า 105 บาท จากแนวโน้มอุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้าในรถยนต์ที่สดใส มองแนวโน้มค่าเงินยูโรอ่อนจะมีผลกระทบจำกัดต่อ KCE จากการศึกษาพบว่า Correlation ระหว่างค่าเงินบาทต่อยูโรและอัตรากำไรขั้นต้นของ KCE ในช่วง 41 ไตรมาสย้อนหลังอยู่ที่ -0.29 ซึ่งสะท้อนว่าทิศทางค่าเงินยูโรไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะชีวัดทิศทางการดำเนินงานของผลประกอบการได้
ด้าน บล.ทรีนีตี้ แนะ"ซื้อ"หุ้น KCE เช่นกัน โดยระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนส่งออกไปยัง Europe ประมาณ 60% (ซึ่งมีทั้งที่รับเป็นเงิน USD และ Euro) และบริษัทมีการทำ Hedging ไว้บางส่วน
อย่างไรก็ดี บริษัทได้ลองทำผลกระทบจากค่าเงิน Euro ที่อ่อนค่าลง และได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงิน USD เช่นกัน โดยคิดแบบ Worst Case สุดที่รายได้ประมาณ 60% รับเป็นเงิน Euro และที่เหลืออีก 40% รับเป็น USD ซึ่งคิดผลกระทบกรณีแล้วร้ายสุด รายได้ในไตรมาสตั้งแต่ 2-4 ของปีนี้ จะถูกกระทบประมาณ -1.4% หรือคิดเป็น EPS ที่ 0.266 บาท ซึ่งถ้าคูณด้วย Forward P/E ที่ 16.8 เท่า คิดเป็นผลกระทบต่อหุ้นประมาณ 4.47 บาท
แต่มองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต่ำกว่านี้เนื่องจากรายได้ในกลุ่ม Europe มีบางส่วนที่รับเป็น USD และบริษัทมีการทำ Hedging ไว้ ซึ่งในกรณี Base Case รายได้ประมาณ 50% ของ Europe รับเป็น USD จะคิดเป็นกระทบต่อราคาหุ้นประมาณ 0.80 บาทเท่านั้น