KTB ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 60 พลิกโต 3% รับลงทุนภาครัฐ-ศก.ฟื้น หลังปีนี้คาดสินเชื่อหด 3-5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 1, 2016 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าสินเชื่อรวมในปี 60 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ราว 3% จากปีนี้ที่คาดว่าสินเชื่อรวมอาจติดลบราว 3-5% โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อในปีหน้ามาจากสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาครัฐที่น่าจะมีความชัดเจนขึ้นและมีโครงการต่าง ๆ ออกมามากขึ้นกว่าปีนี้ ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยในปี 60 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 3%

การที่ธนาคารประเมินสินเชื่อรวมในปีนี้อาจจะหดตัว เนื่องจากในช่วง 9 เดือนแรกสินเชื่อติดลบไปแล้ว 6% เป็นผลจากการชะลอตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ และสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐหดตัว หลังจากโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐยังไม่ได้ออกมาอย่างชัดเจน

ประกอบกับ สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ลงทุนเพิ่ม และส่วนใหญ่หันไปเน้นการรีไฟแนนซ์ด้วยการออกหุ้นกู้มากขึ้น ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยนั้น ธนาคารได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากความกังวลในเรื่องของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“9 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารติดลบ 6% แต่ทั้งปีนี้คาดว่าติดลบประมาณ 3-5% โดยพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร 50% เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับการลงทุนภาครัฐที่ 9 เดือนที่ผ่านมาติดลบ เพราะไม่มีการลงทุนเกิดขึ้นชัดเจน อีก 50% กระจายไปในสินเชื่อคอร์ปอเรท ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าคอร์ปอเรทมีแต่รีไฟแนนซ์ มีการออกบอนด์เยอะ และไม่มีการลงทุน สินเชื่อส่วนนี้ก็ยังชะลอตัว

ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย เราก็กังวลเรื่อง NPL ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้เราก็ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งตอนนี้อัตราการรีเจคของธนาคารอยู่ที่ 30% เมื่อเทียบกับแบงก์อื่นอยู่ที่ 20-30% แต่ก็คาดว่าสินเชื่อรวมของธนาคารในไตรมาส 4 นี้น่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เพราะเป็นช่วงซีซั่น"นายวรภัค กล่าว

ด้านการตั้งสำรองของธนาคารในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยธนาคารมีการตั้งสำรองเฉลี่ย 1 พันล้านบาท/เดือน โดย 9 เดือนแรกที่ผ่านมาธนาคารตั้งสำรองไปแล้วที่ 1.9 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่ธนาคารยังตั้งสำรองในระดับสูงก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงและรักษาระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage Ratio) ให้เพิ่มขึ้น ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา Coverage Ratio ของธนาคารอยู่ที่ 105%

“ที่ธนาคารยังต้องตั้งสำรองฯเพิ่มอยู่เพื่อเพิ่มและรักษาระดับ Coverage Ratio ของกรุงไทยให้แข็งแกร่ง แต่เราก็ยังต้องบาลานซ์การตั้งสำรองฯกับการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นให้เหมาะสมกัน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ธนาคารยังต้องจ่ายปันผลในสัดส่วน 40% ซึ่งการที่จะทำให้ Coverage Ratio เพิ่มขึ้นไปถึง 130% อาจจะต้องใช้เวลาสัก 3 ปี (ปี 60-62) ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา Coverage ของธนาคารอยู่ที่ 105%"นายวรภัค กล่าว

ขณะที่ NPL ในไตรมาส 4/59 คาดว่าจะยังทรงตัวจากไตรมาส 3/59 ที่อยู่ในระดับ 4.2% และคาดว่า NPL ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางปี 60 โดยเป็นผลมาจากคุณภาพหนี้ของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยที่ทำให้ NPL ของธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นปกติของ NPL ที่จะสะท้อนภาพการปรับตัวขึ้นหลังภาวะเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวมาก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อมั่นว่ากำไรก่อนการตั้งสำรองในปีนี้จะอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท หลังจาก 9 เดือนที่ผ่านมามีกำไรก่อนการตั้งสำรองแล้วราว 5 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากพอร์ตสินเชื่อของธนาคารกระจายตัวไปในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้น และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้บริการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมมากขึ้น และธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นธนาคารอันดับที่ 2 ของตลาดที่มีการให้บริการออกหุ้นกู้ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ