PTT คาดความต้องการใช้ก๊าซปี 60 ใกล้เคียงปีนี้ที่ราว 4.9 พันล้านลบ.ฟ./วัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 22, 2016 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปี 60 น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวจากระดับราว 4,900 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน แม้ความต้องการใช้ก๊าซฯจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จะเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ลดลงไป

อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังจะเร่งเจรจาเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากรายอื่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีการนำเข้า LNG จากการ์ต้า 2 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างจะนำเข้า LNG จากกลุ่มเชลล์และบีพี อีกรายละ 1 ล้านตัน/ปี ในช่วงปี 60 รวมถึงเจรจาเพื่อนำเข้า LNG จากกลุ่มปิโตรนาส ของมาเลเซียด้วย ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รองรับการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลง

ล่าสุดปตท.ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ดำเนินการก่อสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท รองรับการนำเข้า LNG ปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเร่งออกแบบและเปิดประมูลเพื่อก่อสร้างต่อไป โดยคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จตามแผนในปี 65

สำหรับคลัง LNG แห่งแรก ที่ปัจจุบันรองรับการนำเข้าได้ 5 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างการขยายระยะที่ 2 รองรับการนำเข้าเพิ่มเป็น 10 ล้านตัน/ปี จะแล้วเสร็จในปี 60 ส่วนการขยายเพิ่มเป็น 11.5 ล้านตัน/ปีจะแล้วเสร็จในปี 62 นั้น เมื่อรวมกับคลัง LNG แห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตัน/ปี ในปี 65 แล้ว ก็จะทำให้คลัง LNG สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้ 19 ล้านตัน/ปี มีขีดความสามารถในการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติได้ครอบคลุมปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยจาก 2 แหล่งใหญ่ทั้งบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดอายุในช่วงปี 65-66 ได้ราว 2,100 ล้านลบ.ฟ./วัน

อย่างไรก็ตาม แม้การนำเข้า LNG จะสามารถชดเชยปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทย ที่จะลดลงได้นั้น แต่ก็ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด เนื่องจากการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศราว 50% มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการนำก๊าซฯจากอ่าวไทยขึ้นมาแยกผลิตภัณฑ์ ขณะที่อีกราว 25% มาจากโรงกลั่นน้ำมัน และอีก 25% เป็นการนำเข้า ทำให้ยังคงมีความกังวลในส่วนของปริมาณการผลิต LPG ที่อาจจะลดลง ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบในการผลิตธุรกิจปิโตรเคมีนั้น ยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากผู้ผลิตปิโตรเคมีได้เตรียมความพร้อมบางส่วน อย่างกรณีของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่มีแผนจะสร้างโรงงานโอเลฟินส์ใหม่ โดยใช้แนฟทา ซึ่งมาจากสายน้ำมันเป็นวัตถุดิบ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวว่า รัฐบาลมีความเข้าใจถึงปัญหาแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ 2 แหล่งที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 หากยังคงไม่ชัดเจนภายในปีหน้า ก็อาจจะทำให้ผู้ได้รับสัมปทานในปัจจุบันหยุดการลงทุนภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ระดับการผลิตปิโตรเลียมลดลงเร็ว

"หากมีความชัดเจนภายในปี 60 การลงทุนพัฒนา การจ้างงานก็จะมีความต่อเนื่อง การผลิตอาจลดลงบ้างตามศักยภาพของแต่ละแหล่ง แต่การผลิตก็จะมีความต่อเนื่อง แต่ถ้าปีหน้าไม่ได้ข้อยุติ การลงทุนจะหยุดชะงักภายใน 3 ปีข้าหงน้าระดับการผลิตก็จะลดลงเร็ว เพราะไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ขึ้นมา น่าเป็นห่วง แต่เรื่องนี้กระทรวงพลังงานมีความเข้าใจและดำเนินการเต็มที่ที่จะเปิดประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 60"นายเทวินทร์ กล่าว

อนึ่ง แหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ที่จะหมดอายุในปี 65-66 ได้แก่ แหล่งบงกช ที่มีบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ในกลุ่มปตท.เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่อีก 1 แหล่งคือแหล่งเอราวัณ มีกลุ่มเชฟรอนฯ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งล่าสุดการจะเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวยังคงต้องรอร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อน

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.จะยังคงทำหน้าที่เพื่อจัดหาพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้ของประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ติดต่อเจรจาเพื่อที่จะรับซื้อและจัดหาก๊าซธรรมชาติ รวมถึง LNG เพื่อเข้ามาเสริมและทดแทนปริมาณก๊าซฯในประเทศที่จะลดลง ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องท่อส่งก๊าซฯเพื่อเชื่อมโยงปริมาณก๊าซฯจากฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของประเทศ เพื่อนำก๊าซฯมาช่วยเสริมระบบการผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ