โบรกฯแนะ"ซื้อ"AH มองดีลลงทุน SGAH คุ้มค่าหนุนกำไรโตก้าวกระโดดยกระดับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนฯระดับโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 7, 2017 14:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) หลังมองการเข้าลงทุน 25.1% ในบริษัท Sakthi Global Auto Holdings Limited (SGAH) ซึ่งทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดีย, โปรตุเกส, สหรัฐอเมริกา และจีน มูลค่ารวม 100 ล้านเหรียญสหรัฐคุ้มค่า และจะช่วยหนุนให้กำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดดในปีนี้ จากธุรกิจหลักที่เติบโตแม้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศยังไม่สดใส แต่จากการควบคุมต้นทุนที่ดีและแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในมาเลเซียที่ดี ประกอบกับ การจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน SGAH เข้ามาทันทีตั้งแต่ไตรมาส 3/60 หลังทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นแล้วเสร็จ

ภายหลังจากการประกาศแผนลงทุนของ AH ใน SGAH ซึ่งจะช่วยยกระดับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลกให้เร็วขึ้นนั้น ทำให้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ AH ในปีนี้ขึ้น พร้อมกับการปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของหุ้น ผลักดันให้ราคาหุ้น AH ปรับขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมาจนแตะระดับ 25.50 บาทสูงสุดรอบกว่า 4 ปีเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. แต่ก็ยังมี upside จากราคาเป้าหมายอยู่มาก ทำให้หุ้น AH ยังน่าสนใจต่อการลงทุน

พักเที่ยง ราคาหุ้น AH อยู่ที่ 23.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท (+2.59%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 0.15%

          โบรกเกอร์                        คำแนะนำ                 ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บัวหลวง                             ซื้อ                         33.00
          เออีซี                               ซื้อ                         25.00
          แอพเพิล เวลธ์                        ซื้อ                         28.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)          ซื้อ                         25.00
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                 ทยอยซื้อ                       24.40

นายอิศรา เลิศสุดคนึง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เออีซี กล่าวว่า การที่ AH จะเข้าลงทุนราว 25% ใน SGAH ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานีลงทุนในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อส่งให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น General Motors, Continental AG, Maruti Suzuki India Limited, Iijin Automotive Private Limited และ Ford นั้น นับว่าเป็นดีลที่ดี เพราะเงินลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่ SGAH จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย

เงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนใน SGAH จำนวน 25.1% ของทุนจดทะเบียน รวมมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินกู้แปลงสภาพสังเคราะห์ (Synthetic Convertible Loan) รวมมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราดอกเบี้ยที่ 20% ต่อปี ซึ่งเงินกู้แปลงสภาพสังเคราะห์มีสิทธิการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 1 หุ้น คิดเป็น 0.01% ของทุนจดทะเบียน โดยข้อตกลงมีเงื่อนไขบังคับใช้เมื่อถึงวันที่ 31 มี.ค.63

สำหรับเงื่อนไขการชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1 หุ้น ดังต่อไปนี้ หากมูลค่าหุ้น 25.1% ของ SGAH มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ AH จะชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนของ SGAH จำนวน 1 หุ้น ในมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากมูลค่าหุ้น 25.1% ของ SGAH อยู่ระหว่าง 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐ AH จะชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนของ SGAH จำนวน 1 หุ้น ตามมูลค่าส่วนที่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากมูลค่าหุ้น 25.1% ของ SGAH น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ AH จะไม่มีภาระการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนใน SGAH ขณะที่ในระหว่างนั้น AH ยังได้ดอกเบี้ยรับปีละ 20% กลับมาด้วย

ขณะที่ AH จะใช้เงินสดราว 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และกู้เงินจากสถาบันการเงิน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนใน SGAH แม้จะมีภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้แต่ก็จะถูกชดเชยด้วยส่วนแบ่งกำไรจาก SGAH กลับเข้ามาโดยคาดว่าปีนี้ SGAH จะมีกำไรใกล้เคียงปี 59 ที่ 485 ล้านบาท ซึ่ง AH จะได้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในปีนี้ราว 123.5 ล้านบาท บวกกับดอกเบี้ยของเงินกู้แปลงสภาพสังเคราะห์อีก ทำให้คาดว่าปีนี้ AH จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 49.9% มาที่ 814 ล้านบาท

สำหรับการเติบโตของ AH ยังเป็นการเติบโตจากยอดขายรถยนต์ในมาเลเซียที่ดีขึ้น จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงยอดขายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวแม้จะยังไม่สดใสก็ตาม ตลอดจนการลดต้นทุนการผลิตในช่วงที่ผ่านมาช่วยทำให้เพิ่มมาร์จิ้นได้ดี

"หุ้น AH เป็นหุ้นที่เราชอบในกลุ่มยานยนต์ เพราะมีการกระจายความเสี่ยงในเชิงธุรกิจตั้งแต่ upstream ไปจนถึง downstream ตั้งแต่ชิ้นส่วนยานยนต์ OEM และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งในไทยและมาเลเซีย และยังมี yield ที่เพิ่มขึ้นจากการจะเข้าลงทุนใน SGAH ทำให้เรา up target price เป็น 25 บาท จากเดิม 22.6 บาท"นายอิศรา กล่าว

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ AH ขึ้น 13% มาอยู่ที่ 710 ล้านบาทสำหรับปี 60 และปรับขึ้นอีก 41% มาอยู่ที่ 960 ล้านบาทสำหรับปี 61 จากส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นกว่าที่คาดจากบริษัทย่อย ซึ่งเป็นดีลเลอร์ของฮอนด้าและฮุนไดในมาเลเซียและไทย โดยปรับเพิ่มประมาณการส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยขึ้น 16% มาอยู่ที่ 336 ล้านบาทในปี 60 และเพิ่มขึ้น 35% มาอยู่ที่ 412 ล้านบาทสำหรับปี 61 ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์

นอกจากนี้ กำไรยังเติบโตจากการเข้าซื้อหุ้น 25.1% ใน SGAH ซึ่งเป็นนำด้านการจ้างผลิตชิ้นส่วนประกอบเหล็กและอลูมิเนียมเชื่อเพลาล้อรถยนต์ ในประเทศอินเดีย มา 3 ทศวรรษ โดยการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดกำไรและโอกาสในการทำธุรกิจกับลูกค้าของ SGAH ในการส่งชิ้นส่วนจากประเทศไทย

กำไรที่เติบโตของ AH ที่หนุนโดยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และการลงทุนใน SGAH ทำให้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 60 มาอยู่ที่ 33 บาท อ้างอิงจากเป้าหมาย PEG ปี 60 ที่ 0.50 เท่าจาก PEG ปี 60 ปัจจุบันที่ 0.33 เท่า

ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.แอพเพิล เวลธ์ ระบุว่า การเข้าลงทุนใน SGAH จะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาว ทำให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ผลิตชิ้นส่วนและขายในประเทศไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ในอนาคตกลุ่ม SGAH มีแผนเข้าลงทุนร่วมกับ AH ซึ่งเป็นผู้ผลิตโครงช่วงล่างรถกระบะ และชิ้นส่วน Forging ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งเรื่องการเพิ่มทักษะและเทคโนโลยีการผลิต ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปสู่ตลาดระดับโลก

การลงทุนใน SGAH ครั้งนี้เชื่อว่า AH จะได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขการลงทุนที่ค่อนข้างรัดกุม โดยนอกจากจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามสัดส่วน 25.1% คาดไม่น้อยกว่า 118 ล้านบาท/ปี และยังจะได้ดอกเบี้ยรับ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เป็นเวลา 3 ปี ขณะที่คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นไม่มาก คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 4.3-4.4% ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ คาดว่าหนี้สินสุทธิ/ทุน (Net D/E) หลังเข้าทำรายการที่ 0.73 เท่าต่ำกว่าเพดานที่ไม่เกิน 2 เท่า และเมื่อพิจารณาประกอบกับความสามารถในการทำกำไรของ AH ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากแผนการควบคุมต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 60 ขึ้นจากเดิม 42.2% อยู่ที่ 824 ล้านบาท เติบโต 51.7% จากปีก่อน และเพิ่มเป็น 991 ล้านบาท เติบโต 20.2% ในปี 61

จากแนวโน้มกำไรที่เติบโตโดดเด่น ส่งผลให้ Forward PER ในปี 60-61 ลดลงเหลือต่ำเพียง 8.5 และ 7.1 เท่า ถูกที่สุดเทียบกับ Peer ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ทำให้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 28 บาท จากเดิม 19.80 บาท และเลือกเป็น Top Pick ของกลุ่ม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ