VTE-QTC-ECF ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 220 MW ในเมียนมา พร้อม COD ใน Q1/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 19, 2017 07:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทยเข้าร่วมถือหุ้นด้วยกัน 3 บริษัทคือ บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้นร้อยละ 20 , บริษัท คิวทีซีโกลบอลพาวเวอร์ จำกัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี (QTC) ถือหุ้นร้อยละ 15 และ บมจ.วินเทจ วิศวกรรม ถือหุ้นร้อยละ 12 สำหรับผู้ถือหุ้นที่เหลือคือ Noble Planet Pte. Ltd.(สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 5 และ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. (สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 48

ทั้งนี้ GEP มีบริษัทย่อย 1 แห่ง ถือหุ้น 100% คือ บริษัท จีอีพี (เมียนมาร์) จำกัด (GEP-Myanmar) เป็นบริษัทสัญชาติเมียนมา ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement :PPA) กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ Ministry of Electricity and Energy ของเมียนมา โดย EPGE จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทติย์ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 220 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดที่ 170 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ที่ 0.1275 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยไฟฟ้า ตลอดอายุสัญญาของ PPA

โครงการผลิตไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 4 เฟส รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 220 เมกะวัตต์ อัตราการรับซื้อสูงสุด 170 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มCOD ได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/61 เป็นต้นไป

“สำหรับ VTE เหมือนกับได้รับโชคสองชั้นในโปรเจ็กนี้ เพราะนอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 12 แล้ว ยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 292.62 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,080.76 ล้านบาท และถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งเพราะนี่คืองานที่เป็นเมกะโปรเจ็กของเมียนมา และวินเทจฯ คือผู้ประกอบการจากประเทศไทยรายแรกที่ได้ทำงานใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งจะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้างยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตได้มากกว่าเดิม"นายศุภศิษฏ์ กล่าว

นายศุภศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนที่เมียนมา จะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น คือนอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจเพื่อให้การเติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้อีกด้วย เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรที่มั่นคง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ