โบรกฯแนะ"ซื้อ"BEM คาดปี 62-63 จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าโตชัดเจน-มี Upside หากได้ต่อสัมปทานทางด่วน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 11, 2017 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มองธุรกิจรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นชัดเจนในปี 62-63 จากจำนวนผู้โดยสารที่จะเติบโตพุ่งพรวดมาที่ 5 แสนเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 3 แสนเที่ยวคน/วัน หลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง- บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระที่เริ่มให้บริการช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ-เตาปูน ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ และช่วงที่ 2 เปิดในปี 62 และช่วงที่ 3 เปิดในปี 63

ขณะเดียวกันโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่จะเปิดให้บริการ ก็จะช่วยทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ จากการขยายอายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากปี 72 เป็นปี 93 จะช่วยขยายเวลาการตัดค่าเสื่อมราคา และผลตอบแทนคงที่จ่ายให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสัมปทานปัจจุบันให้เป็นจำนวนเงินที่น้อยลง รวมทั้งการจะเข้าร่วมประมูลงานเดินรถ 3 สาย คือ สายสีส้ม สายสีม่วงใต้ และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ยังเป็น Upside อนาคตที่ยังไม่ได้รวมในราคาเป้าหมาย

ส่วนธุรกิจทางด่วน มีแนวโน้มได้ต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A-B-C ที่จะหมดในปี 63 ออกไปอีก 10 ปีแรก และต่ออายุได้อีก 10 ปี อีกทั้งมีแผนนำ BMN ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปลายปี 62 หรือต้นปี 63 ด้วย ก็จะเป็น Upside เพิ่มเติม

พักเที่ยงราคาหุ้น BEM อยู่ที่ 7.40 บาท ลบ 0.05 บาท (-0.67%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.06%

          โบรกเกอร์                     คำแนะนำ             ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เคจีไอฯ                      Outperform                  8.68
          ดีบีเอสฯ                          ซื้อ                      8.60
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ                  ซื้อ                      8.50
          ทิสโก้                            ถือ                      7.60
          โนมูระ พัฒนสิน                   Neutral                   7.25

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ"ซื้อ"หุ้น BEM ที่ราคาเหมาะสม 8.50 บาท และให้เป็น Top Pick ของการลงทุนในเดือน ก.ค.นี้ จากประเด็นที่น่าลงทุนในธุรกิจทั้งทางด่วนและธุรกิจรถไฟฟ้า

ในส่วนธุรกิจรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตดี หลังจากได้สัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ทำให้ภาพธุรกิจรถไฟฟ้าชัดเจน ซึ่งในสัญญาใหม่ได้เปลี่ยนรูปแบบสัญญาเป็นแบบการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ถ้ามีผลตอบแทนเกินอัตรา 9.75% ให้แก่ รฟม.ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าสัญญาเดิม รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่จ่ายให้รฟม.แบบ Net Cost

ดังนั้น คาดว่าในอีก 3 ปี หรือปี 63 จำนวนผู้โดยสารของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และ MRT รวมแล้วเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.5 - 1.7 ล้านเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันมีผู้โดยสารรวมกัน 1.1 ล้านเที่ยวคน/วัน จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง- บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะทำให้ BEM มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันมี 3 แสนเที่ยวคน/วัน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันก็จะเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดมีจำนวนผู้โดยสาร 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดมีจำนวนผู้โดยสาร 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน

นอกจากนี้ ผู้บริหารระบุว่าจะเข้าร่วมประมูล 3 แส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี , รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 โดย BEM มีโอกาส 2 ใน 3 เส้นทางที่จะได้เดินรถเส้นทางใหม่

ขณะที่ธุรกิจทางด่วน โดยสัญญาบริหารทางด่วนขั้นที่สอง (SES) ส่วน A-B-C-D สำหรับสัญญาสัมปทาน 2 ฉบับใกล้จะหมดลงในอีก 3 ปี ข้างหน้าหรือในปี 63 สำหรับส่วน A-B-C และในส่วน D จะหมดอายุสัญญาในปี 70 แต่ผู้บริหารให้ความชัดเจนว่าจะได้รับการเจรจาต่อสัญญาก่อน โดยคาดว่ามีโอกาสต่ออายุ 10+10 ปี ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะเริ่มเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บนเงื่อนไขใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเจรจาแล้วออกมาอย่างไร ก็ยังมีมุมมองบวก และประเด็นนี้ยังไม่ได้รวมในราคาเหมาะสม

รวมทั้ง BEM มีแผนนำบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) ซึ่งเป็นบริษัทลูก BEM ดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปลายปี 62 - ต้นปี 63 หรือหลังเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

ทั้งนี้ คาดการณ์ในปีนี้ BEM จะมีรายได้ 15,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% (จากทางด่วน 66% รถไฟฟ้า 29% และ สื่อโฆษณา 4%) และเพิ่มเป็น 16,500 ล้านบาท เติบโต 6% ในปี 61 ขณะที่กำไรสุทธิในปี 60 จะอยู่ที่ 3,179 ล้านบาท เติบโต 22% จากปีก่อน และในปี 61 มีจำนวน 3,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% จากปีก่อนหน้า

นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน-บางซื่อ ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 11 ส.ค.60 นี้จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้ามาในระบบมากขึ้น โดยคาดว่ามีจำนวนผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้ามายังสัมปทานสายสีน้ำเงินของ BEM เป็น 30,000 เที่ยวคน/วัน จาก 15,000 เที่ยวคน/วันในขณะนี้

อีกทั้งการได้ขยายอายุสัมปทานสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ (สัมปทานเก่า) จากที่จะหมดอายุสัญญาในปี 72 เป็นปี 93 หรือขยายเวลาออกไปอีก 21 ปี ช่วยขยายเวลาการตัดค่าเสื่อมราคา และผลตอบแทนคงที่จ่ายให้กับ รฟม.ในสัมปทานปัจจุบันให้เป็นจำนวนเงินที่น้อยลง

ทั้งนี้ ได้ปรับกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าจากค่าใช้จ่ายที่ปรับลง แต่ขณะเดียวกันก็มีสมมุติฐานเกี่ยวกับจำนวนผู้โดยสารให้มีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้น จึงคาดปีนี้ BEM จะมีกำไรสุทธิระดับ 3,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน และในปี 61 คาดมีกำไรสุทธิ 4,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีนี้

ส่วนธุรกิจทางด่วนนั้น หาก BEM ได้รับการต่ออายุสัมปทานทางด่วนที่จะหมดอายุในปี 63 บางส่วน ไปอีก 10 ปี ก็จะทำให้ราคาพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 บาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การคาดการณ์ของบริษัทถึงทิศทางการเติบโตก้าวกระโดดของจำนวนผู้โดยสาร (ridership) รวมที่ราว 5 แสนเที่ยวคน/วัน ภายหลังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดบริการไม่ได้ผิดไปจากที่โนมูระฯ มองไว้ที่ราว 4.9 แสนเที่ยวคน/วัน และการเติบโตของกำไรปกติที 63% เมื่อเทียบปีต่อปี ในปี 62 ตามลำดับ ซึ่งมองว่าประเด็นนี้ตลาดน่าจะรับรู้ไประดับหนึ่งแล้ว

"ประเด็นที่เรามองว่าตลาดยังไม่รับรู้ และมีสัญญาณบวกมากขึ้นจากความตั้งใจของบริษัทที่จะแข่งขันเพื่อให้ได้สัมปทานมา คือ Upside ของ BEM ที่เรายังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ ได้แก่ การได้สัมปทานรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทาง คือ ม่วงใต้ ส้มตะวันออก และตะวันตก (3.25 บาท/หุ้น) และ การได้รับต่อสัมปทานทางด่วน (3.10 บาท/หุ้น)"โนมูระฯ ระบุ

ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำ "Neutral" ต่อ BEM ที่ราคาเป้าหมาย 7.25 บาท/หุ้น จากราคาซื้อขายในปัจจุบันเต็มมูลค่า ซึ่งผู้ที่มีหุ้นอยู่สามารถ let profit run เพื่อรอ Upside ในอนาคตคาดรวมราว 6.35 บาท/หุ้น จากการได้สัมปทานรถไฟฟ้า เพิ่มเติม รวมถึงได้ต่อสัมปทานทางพิเศษได้ จากฐานธุรกิจของ BEM มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องใน 60-62 จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง และทางด่วนศรีรัชฯ รวมถึงสถานะทางการเงินดีขึ้นส่งให้ต้นทุนเงินกู้ลดลง โดยคาดกำไรปกติจะเติบโตเฉลี่ย 28% ในช่วงเวลาดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ