ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร GLAND ที่ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 27, 2017 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) ที่ระดับ “BBB-"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอของบริษัทจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสี่แยกพระราม 9 และเป็นอาคารที่อยู่ในทำเลที่ตั้งที่ดี รวมถึงการมีภาระหนี้ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทยังมีอาคารสำนักงานให้เช่าจำนวนน้อยและมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเพียงโครงการเดียว นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการที่จะก่อสร้างอาคารซุปเปอร์ ทาวเวอร์ (Super Tower) ซึ่งจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย โดยการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จะทำให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัว และจะลดความสามารถในการลงทุนในโครงการอื่นๆ ลงไปในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า

GLAND จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในทางอ้อมโดยผ่านการซื้อกิจการของ บมจ.มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ในปี 2552 หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ ในปี 2553 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือกลุ่มเจริญกฤษซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น ณ เดือนมีนาคม 2560 จำนวน 51%

บริษัทพัฒนาอาคารสำนักงานให้เช่าบนถนนพระราม 9 จำนวน 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส (The 9th Towers) ยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ (Unilever House) และจี ทาวเวอร์ (G Tower) อาคารทั้ง 3 แห่งมีพื้นที่สำนักงานให้เช่ารวม 148,749 ตารางเมตร (ตร.ม.) และพื้นที่ค้าปลีกรวม 25,397 ตร.ม.

อนึ่ง บริษัท ยูนิลีเวอร์ จำกัด เป็นผู้ทำสัญญาเช่าพื้นที่สำนักงานอาคารยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ ทั้งหมดเป็นเวลา 20 ปี ส่วนอาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส และจี ทาวเวอร์ มีผู้เช่าแล้ว 99% และ 78% ตามลำดับ ในเดือนเมษายน 2560 บริษัทจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงาน จีแลนด์ (กองทรัสต์ฯ) เพื่อเช่าช่วงพื้นที่ในอาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส และยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ จากบริษัทที่มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยบริษัทถือหุ้นในกองทรัสต์ฯ ในสัดส่วน 15%

ในส่วนของอาคารที่อยู่อาศัยนั้น บริษัทได้พัฒนาคอนโดมิเนียม 1 โครงการในชื่อ เบ็ล แกรนด์ พระราม 9 (Belle Grand Rama 9) ณ เดือนมีนาคม 2560 บริษัทได้ขายและโอนห้องชุดในโครงการให้แก่ลูกค้าไปแล้ว 96% โดยมีมูลค่าเหลือขายอีกประมาณ 1,500 ล้านบาท บริษัทยังไม่มีแผนจะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ภายใต้กิจการร่วมค้ากับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 48 ไร่บนถนนพหลโยธิน มูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยกิจการร่วมค้าวางแผนจะพัฒนาที่ดินดังกล่าวให้เป็นโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-use)

รายได้จากค่าเช่าและบริการของบริษัทค่อนข้างกระจุกตัวโดยมาจากอาคารสำนักงานจำนวนไม่กี่แห่ง ซึ่งหลังจากให้กองทรัสต์ฯ เช่าช่วงพื้นที่สำนักงานในอาคารยูนิลีเวอร์ เฮ้าส์ และเดอะไนน์ ทาวเวอร์สไปแล้ว บริษัทก็เหลือพื้นที่สำนักงานให้เช่าในอาคารจี ทาวเวอร์และพื้นที่ค้าปลีกในอาคารทั้งหมดเพียง 3 แห่งเท่านั้น ณ เดือนมีนาคม 2560 อาคารจี ทาวเวอร์มีผู้เช่าพื้นที่จำนวน 52,176 ตร.ม. หรือคิดเป็น 78% ของพื้นที่สำนักงานให้เช่าทั้งหมด โดยผู้เช่ารายใหญ่ที่สุด 3 รายแรกเช่าพื้นที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด อัตราค่าเช่าเฉลี่ยของอาคารจี ทาวเวอร์อยู่ที่ 717 บาทต่อ ตร.ม. ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าเช่าในตลาดเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการมีผู้เช่าที่กระจุกตัวถูกบรรเทาลงด้วยการที่ผู้เช่าเหล่านี้เป็นผู้เช่าที่มีฐานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

หลังจากขายสิทธิเช่าช่วงในอาคาร 2 แห่งให้แก่กองทรัสต์ฯ แล้ว ภาระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยบริษัทได้นำเงินที่ได้จากการให้เช่าช่วงไปชำระคืนหนี้โครงการและหนี้ตั๋วแลกเงิน ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะลดลงจาก 52% ในไตรมาสแรกของปี 2560 เหลือประมาณ 40% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อบริษัทเริ่มก่อสร้างอาคารซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ทั้งนี้ ค่าก่อสร้างในโครงการซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ที่ยังไม่รวมมูลค่าที่ดินจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท และระยะเวลาก่อสร้างจะอยู่ในช่วงปี 2561 ถึงปี 2566 อาคารซุปเปอร์ ทาวเวอร์ จะมีพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด 143,000 ตร.ม.

การลงทุนมูลค่าสูงและระยะเวลาก่อสร้างที่ยาวนานจะเป็นปัจจัยกดดันต่อสถานะการเงินของบริษัทเป็นอย่างมากในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้น บริษัทจะต้องมีวินัยในการบริหารสภาพคล่องที่ดีเพื่อที่จะดำรงสถานะอันดับเครดิตที่ระดับปัจจุบันเอาไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังจะต้องรักษาอัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาการกู้ยืมเงินด้วย

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 15% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารวมถึงการลงทุนในโครงการซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แล้วคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอ่อนแอลงอย่างมากจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 6.5% ในปี 2559 ไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5% ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนการลงทุนโครงการซุปเปอร์ ทาวเวอร์ด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคาร ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้กระแสเงินสดที่ได้จากการลงทุนเพื่อใช้ในการชำระหนี้เงินกู้ยืมของโครงการ

บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตึงตัว โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดจำนวน 500 ล้านบาทและวงเงินกู้ยืมระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1,200 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 นอกจากนี้ บริษัทยังจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย ส่วนภาระหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (ไม่รวมเงินกู้ยืมสำหรับโครงการ) นั้นอยู่ที่ 4,550 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 1,900 ล้านบาทและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกจำนวน 2,650 ล้านบาท บริษัทวางแผนจะต่ออายุเงินกู้ยืมระยะสั้น ด้วยการกู้ยืมใหม่ในเงื่อนไขเดิม (Roll Over) และจะชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนส่วนใหญ่ด้วยเงินสดที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่

บริษัทยังมีสินทรัพย์ที่ไม่มีภาระผูกพันซึ่งประกอบด้วยที่ดินมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านบาท หุ้นในบริษัทเบย์วอเตอร์ ในสัดส่วน 50% มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท และเงินลงทุนอีก 15% ในกองทรัสต์ฯ ซึ่งมีมูลค่า 750 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ในกรณีที่บริษัทต้องการกู้ยืม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานตามที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ โดยที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดเนื่องจากแผนการลงทุนในโครงการซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ในขณะที่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลงหากสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงจากระดับที่ประมาณการไว้จนทำให้อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.5 เท่าเป็นเวลานานพอสมควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ