(เพิ่มเติม) PTTGC ทุ่มงบราว 2 พันล้านเหรียญฯลงทุนพื้นที่ EEC ทำห่วงโซโพลียูรีเทน-ขยายกำลังผลิตโอเลฟินส์เสร็จปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 25, 2017 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เตรียมใช้งบลงทุนราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนใน 2 โครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งห่วงโซ่ธุรกิจโพลียูรีเทน รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการ Maptaput Retrofit-Olefins Reconfiguration (MTPR) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นการใช้วัตถุดิบในการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ โดยทั้ง 2 โครงการจะแล้วเสร็จในปี 63

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย ของ PTTGC และ ประธานกรรมการบริษัท จีซี โพลีออลส์ จำกัด (GC Polyols) กล่าวว่า วันนี้ PTTGC ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนกับ Sanyo Chemical Industries, Ltd. (SCI) และ Toyota Tsusho Corporation (TTC) ของญี่ปุ่น เพื่อดำเนินโครงการ Polyols & PU System ผลิตและจัดจำหน่ายโพลีออล ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตโพลียูรีเทน โดยตั้งบริษัท GC Polyols ซึ่งมี PTTGC ถือหุ้น 82.1% , SCI ถือหุ้น 14.9% และ TTC ถือหุ้น 3%

ทั้งนี้ จะจัดตั้งโรงงานผลิตโพลีออล ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง โดยมีกำลังการผลิตโพลีออล 130,000 ตัน/ปี และ PU Systems กำลังการผลิต 20,000 ตัน/ปี จะเริ่มการก่อสร้างในเดือนก.ย.60 คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 63 ซึ่งภายใต้การร่วมลงทุน PTTGC จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบหลัก Propylene Oxide (PO) และ Ethylene Oxide (EO) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโพลีออล สำหรับใช้ในการผลิตโพลียูรีเทนคุณภาพสูงที่ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (E&E) และอุตสาหกรรมก่อสร้าง

โดย SCI จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีออล ประเภทต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่วน TTC จะให้การสนับสนุนด้านการตลาด การจัดจำหน่ายและการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในทวีปเอเชีย ด้วยความร่วมมืออันแข็งแกร่งของ 3 พันธมิตร จะทำให้โครงการมีศักยภาพในการแข่งขันในภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้น

ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ PTTGC ได้จัดตั้งบริษัท จีซี ออกซีเรน จำกัด (GC Oxirane) ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินการลงทุนในโครงการ PO ป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโครงการ Polyols & PU System ครั้งนี้ด้วย โดยมีกำลังผลิต PO ระดับ 200,000 ตัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 63 โดยทั้ง 2 โครงการผลิต ได้แก่ PO และ Polyols & PU System มีมูลค่าลงทุน 887.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท

นายปฏิภาณ กล่าวว่า ในวันนี้สถาบันการเงินชั้นนำ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) ธนาคารธนชาต (TBANK) และธนาคารเกียรตินาคิน (KK) ได้ร่วมลงนามสัญญาให้การสนับสนุนโครงการ PO และ Polyols & PU System ในวงเงินลงทุน 2.31 หมื่นล้านบาท โดยเป็นกลุ่มธนาคารที่เข้าให้การสนับสนุนการลงทุนใน EEC อันเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะรองรับตลาดในประเทศ และเอเชียที่มียังมีการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมก่อสร้างจำนวนมาก

เมื่อโครงการแล้วเสร็จคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับ GC Polyols ราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี และยังทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีของบริษัททำได้ครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะในสายโพลีโพรพิลีน (PP) เนื่องจากในห่วงโซ่โครงการโพลียูรีเทนนี้ จะเริ่มจากการใช้ PP เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิต PO ซึ่งขั้นกลาง เพื่อต่อยอดผลิตสินค้าเกรดพิเศษ (Specialty) อย่าง Polyols & PU System ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้ราว 1-2 เท่า

ส่วนโครงการร่วมทุนกับบริษัท คุราเร่ จำกัด และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากญี่ปุ่น เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงประเภท High Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) และผลิตภัณฑ์ยางเทอร์โมพลาสติกประเภท Hydrogenated Styrenic Block Copolymers (HSBC) ในประเทศไทยนั้น คาดว่า PTTGC จะถือหุ้นในโครงการดังกล่าวต่ำกว่า 50% และโครงการจะมีความชัดเจนถึงรายละเอียดการลงทุนได้ในช่วงต้นปี 61

นายปฏิภาณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมที่จะลงทุนในโครงการ Maptaput Retrofit-Olefins Reconfiguration ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นการใช้วัตถุดิบในการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจโอเลฟินส์ มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในช่วงไตรมาส 4/60

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTGC กล่าวว่า โครงการ Maptaput Retrofit-Olefins Reconfiguration เตรียมที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อตัดสินใจขั้นสุดท้ายในช่วงไตรมาส 4/60 และเริ่มก่อสร้างได้ภายในไตรมาส 4 เช่นเดียวกัน และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 63 โดยโครงการดังกล่าวบริษัทเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในพื้นที่ EEC และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนในโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรต่างชาติที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะขยายการลงทุนไปด้วยกัน เช่น คุราเร่, ซูมิโตโม, Sanyo Chemical, Toyota Tsusho, อาซาฮี กลาส เป็นต้น ซึ่งล่าสุดฮาซาฮี กลาส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบมจ.วีนิไทย (VNT) ซึ่ง PTTGC ได้ถือหุ้นร่วมอยู่นั้น ก็มีความสนใจที่จะขยายงานของ VNT เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยให้ความสนใจที่จะขยายในส่วนของโซดาไฟ ที่มีแนวโน้มที่ดี

ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐฯนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการเจรจา แต่ก็อยากเห็นความชัดเจนที่มากขึ้นภายในปีนี้ โดยยังมองว่าโครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการที่ดีและการผลิตอีเทน จากเชลล์แก๊สก็อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่แพงมาก ท่ามกลางภาวะตลาดที่ดีที่ยังมีการเติบโตในภูมิภาคสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ