GPSC รุกตลาดรูฟท็อปกลุ่มอสังหาฯหลังติดตั้งในปั๊ม-รง.,ชงบอร์ดสรุปผลิตแบตเตอรี่ปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 11, 2017 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) บ้านอยู่อาศัย หลังจากที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สำหรับโรงงานในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) 1 แห่ง และสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.3 แห่งภายในปีนี้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนงานที่จะช่วยรองรับการเติบโตของบริษัท และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการนำระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) มาใช้ประโยชน์โดยเร็ว หลังจากที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทภายในปีนี้ เพื่อพิจารณาการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไออน ในเฟสที่ 1 ที่มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ใช้เงินลงทุนเกือบ 1 พันล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 61 และแล้วเสร็จมีผลผลิตออกมาในปี 62 โดยโรงงานจะตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับโรงงานแบตเตอรี่ดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยีของ 24M Technologies Inc. (24M) ซึ่งคิดค้นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่จะนำมาใช้ในระบบกักเก็บพลังงานให้มีราคาถูกลง และมีประสิทธิภาพดีขึ้น

นายเติมชัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ รมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น จะนำคณะนักลงทุนรายใหญ่กว่า 570 รายจากญี่ปุ่นมาไทยนั้น เชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการเจรจาหาพันธมิตรของบริษัท ทั้งในส่วนของโครงการโซลาร์รูฟท็อป และโครงการแบตเตอรี่ด้วย

สำหรับความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าของบริษัทในปีนี้ยังคงเป็นไปตามแผน โดยในสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ หลังโครงการไออาร์พีซีคลีน พาวเวอร์ ระยะที่ 2 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อิจิโนเซกิโซลาร์ เพาเวอร์ ประเทศญี่ปุ่น จะ COD ในไตรมาส 4/60 และจะมีกำลังการผลิต COD ครบ 1,900 เมกะวัตต์ ในปี 62

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 63 ซึ่งจะเป็นการเติบโตตามการขยายตัวของธุรกิจ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ,การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และการเติบโตในต่างประเทศ ส่วนการประมูลโครงการ SPP Hybrid Firm ในไทยนั้น บริษัทไม่สนใจเข้าร่วมประมูลเพราะราคารับซื้อที่ระดับ 3.66 บาท/หน่วย เป็นอัตราที่ต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ