(เพิ่มเติม) SAMART คาดปีนี้มีรายได้ราว 2 หมื่นลบ.-มีผลขาดทุน แม้คาด Q4/60 จะเริ่มกลับมาทำกำไรหลังรุกธุรกิจดิจิตอล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 2, 2017 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) คาดว่า ในปี 60 จะมีรายได้รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยแทบไม่มีรายได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่และมีผลขาดทุนสต๊อกด้วยจึงคาดภาพรวมทั้งปีจะขาดทุน โดยเห็นว่าผลประกอบการกลุ่มบริษัทจะต่ำสุดในไตรมาส 2/60 แม้ว่าในไตรมาส 4/60 เชื่อว่าจะเริ่มพลิกกลับมามีกำไร เนื่องจาก บมจ.สามารถไอ-โมบาย (SIM) ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น "สามารถ ดิจิตอล" (SAMART Digital) พร้อมรุกธุรกิจดิจตอลเต็มรูปแบบ

อนึ่ง ผลประกอบการในปี 59 SAMART มีรายได้รวม 1.38 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 71 ล้านบาท และในช่วงครึ่งแรกของปี 60 มีรายได้ 6.86 พันล้านบาท และมีผลขาดทุน 153 ล้าบาท

"เรามีรายได้จากการขายมือถือเป็นหลักมานาน 10 ปีแล้ว ยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือมีการแข่งขันมาก โอเปอเรเตอร์ก็ลงมาเล่นด้วย เราก็ปรับตัวเองมาสักพัก เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เราต้องเปลี่ยนให้เร็ว เราเห็นโลกก็เปลี่ยนเป็นดิจิทัลไปหมด เราดูว่าสิ่งที่เราถนัดเป็น Digital Service หาช่องทางใหม่ แต่เราก็ยังมีธุรกิจขายมือถือแต่ไม่ใช่ขายเป็นแสนตัวแล้ว เหลือแค่หลักหมื่น และก็จะหารายได้ประจำเข้ามามากขึ้น...เชื่อว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้" นายวัฒน์ชัย กล่าว

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ กลุ่มบริษัทจะมีรายได้หลักมาจาก บมจ.สามารถ เทเลคอม (SAMTEL) หรือมีสัดส่วน 40% บริษัท สามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด มีสัดส่วน 30% ส่วนรายได้จาก SIM จะลดลงไปหลังจากไม่ขายเน้นการเครื่องโทรศัพท์มือถือ หรือมีสัดส่วนรายได้ราว 20% จะคาดว่าในอนาคตจะกลับมามีโครงสร้างรายได้สัดส่วนใกล้เคียงกันทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ

ทั้งนี้ SAMTEL คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ราว 7-8 พันล้านบาท จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 8-9 พันล้านบาท และคาดว่าจะลงนามสัญญาอีก 3-4 พันล้านบาทในไตรมาส 4/60 จึงน่าจะทำให้สิ้นปีนี้ backlog ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท และมีลูกค้ากระจายกลุ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีรายได้ประจำขึ้นมา 40% และตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 50%

นายวัฒน์ชัย ยังกล่าวว่า บริษัทมีแผนนำ บริษัท สามารถ ทรานส์ โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นในปี 61 โดยบริษัท สามารถ ทรานส์ โซลูชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการควบคุมจราจรทุกรูปแบบ รวมถึงประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งทุกประเภท ซึ่งเป็นบริษัทเพิ่งจัดตั้ง โดย บริษัทสามารถ ยู-ทรานส์ จำกัด ถือหุ้น 99.99%

ขณะเดียวกัน บริษัทจะเลื่อนการนำ บริษัท ไอสปอร์ต จำกัด เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ออกไปก่อนจากเดิมตั้งเป้าเข้าในไตรมาส 3/60 เนื่องจากสื่อโฆษณาไม่ได้เข้ามาตามเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องรอปรับเปลี่ยนเป็น Digital Sport ก่อน

สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานทดแทน นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง คาดว่าจะได้ความชัดเจนต้นปี 61

ส่วนธุรกิจของ SAMART Digital ที่ปรับเปลี่ยนจาก SIM เริ่มจากเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมาบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (เอสไอเอสซี คอนซอร์เตียม จากร่วมทุนระหว่าง SIM และ สามารถคอมมิวนิเคชั่น) )เพิ่งลงนามสัญญาโครงการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอล (DTRS: Digita Trunked Radio System) จำนวน 1 พันแห่ง มูลค่า 6 พันล้านบาทของ กสท.เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการโครงข่าย DTRS และ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการได้อย่างเพียงพอ โดยสัญญาจะสิ้นสุดในปี 68

SAMART Digital จะมีรายได้จากการขายเครื่องลูกข่ายรวมถึงการทำตลาดในลักษณะ Private Network และการให้บริการข้อมูลในรูปแบบดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าจากการขายเครื่องที่ 1 แสน - 1.5 แสนตัว และรายได้ที่ 3 พันล้านบาท ภายในระยะเวลา 2-3 ปี จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นองค์กรภาครัฐที่เน้นการสื่อสารทางไกล เป็นกลุ่มใหญ่ และต้องการความปลอดภัยในการสื่อสาร "ตลาดภาพรวมตลาดวิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม (Trunked Radio) มีผู้ใช้ 8.7 แสนตัว บริษัทจะช่วยทำการตลาดให้กับกสท.ด้วย และจะมีรายได้จากการขายเครื่องได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำได้ 2-3 แสนตัว ค่าบริการเก็บเท่ากับที่ กสท.เก็บอยู่คือ 800 บาท/เดือน เราได้ 500 บาท กสท.ได้ 300 บาท กลุ่ม SAMART จะติตตั้งสถานีฐานกระจายทั่วประเทศ ทั้งหมด 1,500 ฐาน ภายใน 1 ปีครึ่ง โดยใช้คลื่นของ กสท. ตอนนี้ให้บริการได้เพราะของกสท.ใช้ในกรุงเทพ"นายวัฒน์ชัยกล่าว

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีโครงการความร่วมมือกับกสท.ในการติดตั้งเสาสัญญาณร่วมในเขตอุทยานแห่งชาติ (Co-Tower) โดยอยู่ระหว่างเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ต.ค.นี้ โดยกลุ่ม SAMART รับจ้าง กสท.ติดตั้งเสาสัญญาร่วมดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ มีบริษัทที่รองรับบริการนี้แล้ว

พร้อมแบ่งโครงสร้างเป็น 5 สายหลักเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ประจำมากขึ้น ประกอบด้วย Digital network ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการสื่อสารผ่านระบบดิจิตอล, Digital Content ภายใต้คอนเซป “Digital Lifestyle" โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม, iSport ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อต้นปี มุ่งสู่ความเป็น Digital Sport ที่ดำเนินธุรกิจกีฬาครบวงจร สอดรับกับเทรนด์ยุคดิจิตอลและการเข้าสู่ยุคของกีฬาและสุขภาพ, Zazzet ธุรกิจ Startup ที่ให้บริการขายฝากสินทรัพย์ออนไล์ผ่านเว็บ Zazzet (ซีแอสเซ็ท) และ iOT ดำเนินธุรกิจจำหน่ายมือถือและ gadget

ธุรกิจ Digital Content ภายใต้คอนเซป “Digital Lifestyle" โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม อาทิ EDT นอกจะให้ข้อมูลเรื่องกินดื่มเที่ยวแล้ว ยังมีบริการวางแผนท่องเที่ยวแบบครบวงจร มีบริการส่งอาหารและส่วนลด ในอนาคตจะนำเสนอคอนเทนต์ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติด้วย ด้าน Horowold แหล่งรวมหมอดูที่มากที่สุด ที่สามารถดูได้ทุกศาสตร์ ทั้งรายมือ โหงวเห้ง ตัวเลข ฯลฯ โดยจะพุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่นิยมดูดวง และหาซื้อสินค้าเสริมมงคลต่างๆด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดตัวได้ในต้นปี 61

โดย iSport จะปรับเป็น Digital Sport ที่ดำเนินธุรกิจกีฬาครบวงจร สอดรับกับเทรนด์ยุคดิจิตอลและการเข้าสู่ยุคของกีฬาและสุขภาพ ซึ่งนอกจากได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสัญญาณไทยพรีเมียร์ลีก 600 กว่าแมทช์ในแต่ละปีแล้ว ยังทำธุรกิจ Sport Tour ให้กับแฟนกีฬาที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว Sport Event เป็นผู้จัดกิจกรรมด้านกีฬาและบันเทิง ล่าสุดจัดกิจกรรม Meet & Greet ดาราเกาหลีชื่อดัง และคอนเสริตใหญ่ ปั่น-บี ในเร็วๆนี้ , Sport e-Commerce นำเสนอสินค้ากีฬาทาง isportmart.com และธุรกิจ Talent Management ที่ให้บริการบริหารสิทธิประโยชน์แก่นักกีฬาแบบครบวงจร

และยังมีบริการ Zazzet ธุรกิจ Startup ที่ให้บริการขายฝากสินทรัพย์ออนไล์ผ่านเว็บ Zazzet (ซีแอสเซ็ท) จุดเด่นคือมีบริการจับคู่ทรัพย์สินกับผู้รับซื้อฝาก ผ่นระบบการยื่นข้อเสนอราคา (Online Matching) ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มให้บริการแล้ว

รวมั้ง iOT ดำเนินธุรกิจจำหน่ายมือถือและgadget ที่ตอบโจทย์ดิจิตอลไลฟสไตล์ ด้วยคุณสมบัติเด่นทางด้านความปลอดภัย, การดูแลสุขภาพและอื่นๆ ซึ่งกลุ่มสามารถมีความชำนาญจากบริษัทในเครือที่มีประสบการณ์ด้านนี้อย่างบริษัท วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซิสเต็ม จำกัด ที่พร้อมทำงานร่วมกัน

"เรามองการก้าวสู่ยุคดิจิตอลนี้เป็นโอกาสของการขยายผลและเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ SAMART Digital จะได้รับผลบวกจากการผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ดังนั้นผมจึงมั่นใจว่าการกลับมาในครั้งนี้ของ SAMART Digital จะแข็งแกร่งขึ้นและพร้อมจะรุกธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของกลุ่มสามารถในปีต่อๆไป" นายวัฒน์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทได้เจรจาติดต่อหน่วยงานภาครัฐราว 10 รายที่จะปรับเปลี่ยนการบริการประชาชนแบบดิจิตตอล คาดว่าจะได้ความชัดเจนราว 4-5 รายในไตรมาส 4/60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ