ADVANC คาดต้นปี 61 ร่วมมือ CSL รุกตลาด Corporate เสริมบริการครบวงจร

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 13, 2017 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส คาดต้นปี 61 ADVANC และ บมจ.ซีเอส ล็อกอินโฟ (CSL) จะร่วมมือกันรุกตลาดองค์กร (Corporate/ Business Segment) ที่จะทำให้ ADVANC ให้บริการได้ครบวงจร จากปัจจุบันให้บริการลูกค้าบุคคลทั่วไป ระหว่างนี้รอกระบวนการเข้าทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ซื้อหุ้น CSL จบสิ้นก่อนจะเผยแผนความร่วมมือ ซึ่งรอการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบมจ.ไทยคม (THCOM) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ CSL เสียก่อน โดยจะมีการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.นี้

"เราอยากทำพวกอินเตอร์เน็ตลิ้งค์ ดาต้าลิ้งค์ ซึ่ง CSL ทำอยู่แล้ว ส่วน Cloud ก็เป็น Corporate Solution จะขยายไป Business Segment ซึ่งจะเพิ่มเติมจาก Mobile เราจะได้ Synergy กันเพราะเขามีทีมที่ชำนาญ Corporate ส่วนเราก็ชำนาญ Mass Consumer จะได้ผสมผสานความแข็งแรงเข้าด้วยกัน ที่เรารวมกัน เพราะเอไอเอสได้วางแผนไว้อยู่แล้วว่าจะขยาย Corporate Segment หรือ Business Segment"นายสมชัย กล่าว

อนึ่ง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC ได้เข้าทำสัญญาเสนอซื้อหุ้นสามัญใน CSL (Share Tender Agreement) กับ Singapore Telecommunication Limited (SingTel) เรียบร้อยแล้ว โดย AWN เข้าทำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจในหุ้นสามัญของบริษัทจำนวนร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท เป็นจำนวน 594,514,769 หุ้น ในราคาหุ้นละ 7.80 บาท

นายสมชัย กล่าวถึง การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900, 1800 MHz ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า การประมูลคลื่นความถี่ที่ราคาสูง ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทยไม่น่าสนใจ และเกิดความเสียหายให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนใบอนุญาตในราคาที่สูงมาก จากการประมูลคลื่น 900, 1800 MHz ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารร่วงลงไปมาก มูลค่าตลาดหายไปมาก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเข้าร่วมประมูลของ ADVANC และอีก 2 โอเปอเรเตอร์ คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ก็ต้องร่วมเข้าประมูล เพราะธุรกิจนี้ถือว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ แต่เชื่อว่า รายใหม่ไม่น่าจะเข้ามาเพราะคลื่นความถี่มีราคาแพงมาก และ 3 รายที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็แข็งแรง

"การประมูลคลื่นด้วยราคาสูงทำให้อุตสาหกรรมเทเลคอมในไทยไม่น่าสนใจเพราะรับต้นทุนสูง อนาคตมีแนวโน้มผลักค่าบริการให้กับประชาชน คือเข้าประมูล แบบหวานอมขมกลืน...ยังไงรอบนี้ ดีแทคก็ต้องประมูล" นายสมชัย กล่าว

ดังนั้นการสรรหา คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ อยากได้บุคคลที่เข้าใจธุรกิจโทรคมนาคม และเป็นผู้สนับสนุธุรกิจโทรคมนาคม อย่างประเทศที่พัฒนาเป็นผู้สนับสุนน บางประเทศให้คลื่นฟรีมาเพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปีที่ 4 ของการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz หรือประมาณในปี 62 บริษัทมีภาระต้องจ่าย 6 หมื่นล้านบาท จากที่ประมูลไป 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายในส่วนที่เหลือให้หมดในปีที่ 4 เช่นเดียวกับ TRUE

ส่วนแนวโน้มในปี 61 ธุรกิจจะไปให้บริการดิจิทัลมากกขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ โดยปัจจุบัน เอไอเอส มีลูกค้า 4G อยู่ 16.9 ล้านราย คิดเป็น 42% ของลูกค้าทั้งหมดที่มีอยู่ 41.19 ล้านราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ