(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.ขยายรับฟังความเห็นแนวทางกำกับ ICO ถึง 22 ม.ค.คาดออกเกณฑ์ Q2/61 เผยมี Portal สนใจ 4-5 ราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 20, 2017 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล Initial Coin Offering (ICO) ที่เป็นหลักทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยจะขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 22 ม.ค.61 จากเดิมขยายเวลามาเป็น 15 ธ.ค.60 คาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์มาบังคับใช้ภายในไตรมาส 2/61

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายให้ความสนใจที่จะออก ICO โดยมีบางรายเข้ามาสอบถามกับ ก.ล.ต.แล้ว โดยเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว และพลังงาน เป็นต้น

"ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้เปิดรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ICO ที่หลากหลายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในเว็บไซต์ ก.ล.ต. และในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (focus group) โดยได้ทราบว่ายังมีผู้เกี่ยวข้องอีกพอสมควร ที่ประสงค์จะเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมในรายละเอียด ก.ล.ต.จึงเห็นควรขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2561" นางพราวพร กล่าว

นางพราวพร กล่าวว่า ปัจจุบัน ICO เป็นรูปแบบการระดมทุนที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือปิดกั้นไม่ให้ผู้ลงทุนไทยเข้าถึงได้ ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม เริ่มจากการทดลองเปิดช่องทาง ICO สำหรับหลักทรัพย์ที่มีลักษณะของ"ส่วนแบ่งร่วมลงทุน" ที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว เช่น หุ้น หรือตราสารหนี้

ทั้งนี้ การระดมทุนผ่าน ICO จะต้องดำเนินการผ่าน ICO Portal ที่ก.ล.ต. ยอมรับ เพื่อช่วยคัดกรอง ICO และเพิ่มความโปร่งใส ส่วนในฝั่งผู้ลงทุน จะเปิดให้เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน กิจการร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ส่วนผู้ลงทุนรายย่อย คาดว่าจะให้มีการจำกัดวงเงินลงทุนใน ICO ของผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละราย

"เราต้องการ facilitate ให้ issuer มีทางเลือกในการระดมทุน และมีเป้าหมายคือ การทำให้ตลาดทุนน่าเชื่อถือ นักลงทุนมีความเชื่อมั่น จะพยายามแยก ICO ที่ต้องการระดมทุนไปใช้ในกิจการจริง กับพวกที่ต้องการมาหลอกลวงเงินจากประชาชน และป้องกันการระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม"นางพราวพร กล่าว

ICO ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.จะต้องมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ ซึ่งต้องกำหนดนิยามหลักทรัพย์เพิ่มเติม เป็นหลักทรัพย์ทั่วไปประเภทใหม่คือ "ส่วนแบ่งร่วมลงทุน" หมายถึงตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิแบ่งเป็นหน่วย แต่ละหน่วยมีข้อตกลงสาระสำคัญเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งตราสารหรือหลักฐานดังกล่าวออก เพื่อจัดหาเงินทุนจากประชาชน และให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมลงทุนในสินทรัพย์ใด หรือการดำเนินงานใด โดยผู้ถือไม่มีส่วนในการบริหาร การจัดการ หรือการดำเนินการในลักษณะประจำ

อย่างไรก็ตาม ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ที่มีการกำหนดไว้แล้วภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิ์ตามข้อตกลงหรือสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สิทธิในการใช่ทรัพย์สินหรือการรับบริการ

ทั้งนี้ นิยามดังกล่าวสามารถครอบคลุมดิจิทัลโทเคนจากการทำ ICO ได้ด้วย โดยกระบวนการ ICO หมายถึงการออกและเสนอหลักทรัพย์ที่ใช้วิธีการทางดิจิทัลกำหนดสิทธิของผู้ถือหลักทรัพย์ จัดเก็บทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ และบังคับข้อตกลงระหว่างผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้ถือหลักทรัพย์โดยอัตโนมัติ

แนวทางการกำกับดูแล ICO ซึ่งเริ่มทดลองด้วยการเปิด track ICO สำหรับเฉพาะ"ส่วนแบ่งร่วมลงทุน" โดยจำกัดผู้ลงทุนเฉพาะนักลงทุนสถาบัน กิจการร่วมลงทุน (VC) นิติบุคคลร่วมลงทุน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ รวมถึงผู้ลงทุนรายย่อยที่มีการจำกัดวงเงินลงทุน จำกัดวงเงินระดมทุนของผู้ออก ICO และต้องใช้ Portal ที่ ก.ล.ต.ยอมรับในการคัดกรอง ICO โดยเฉพาะการตอบโจทย์ความกังวลเรื่องการใช้ ICO มาหลอกลวงประชาชน ซึ่งสามารถมี Portal หลายราย

ในประเด็นการจำกัดวงเงินการเสนอขายและวงเงินผู้ลงทุนรายย่อย โดยการจำกัดวงเงินการเสนอขายดิจิทัลที่เป็นหลักทรัพย์ของผู้ระดมทุนแต่ละรายต่อผู้ลงทุนรายย่อยของไทย ผู้ออก ICO สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อย ไม่เกิน 20 ล้านบาทในระยะ 12 เดือน และมูลค่าระดมทุนทั้งหมดทุกครั้งไม่เกิน 40 ล้านบาท ขณะที่จำกัดวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละรายไม่เกิน 3 แสนบาทต่อโครงการ และไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละราย

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังกำหนดรูปแบบในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออก ICO ในโครงการที่นำเสนอ ได้แก่ วัตถุประสงค์และลักษณะของโครงการ โมเดลการประกอบธุรกิจ และแผนธุรกิจ วัตถุประสงค์ที่จะนำเงินจาก ICO ไปใช้ กำหนดการ ความก้าวหน้าสำคัญของธุรกิจ ประเภทและรูปแบบทางกฎหมายขององค์กรที่ดำเนินการโครงการดังกล่าว บุคลากรและที่ปรึกษา ข้อมูลทางการเงิน ผลประกอบการในอดีต ความเสี่ยงของประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฟังก์ชั่นของดิจิทัลโทเคน โครงสร้าง การขาย และกลไกการกระจายดิจิทัลโทเคน ตลาดรองดิจิทัลโทเคนจะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือแผนการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลติดต่อสำหรับนักลงทุน

นางพราวพร กล่าวว่า ในประเด็นเรื่องผู้ออก ICO ยังอยู่ระหว่างการหารือกันว่าจะเปิดให้ต่างชาติมาระดมทุนในประเทศไทยเพื่อไปใช้ลงทุนในต่างประเทศได้หรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป

ขณะที่ผู้ที่สนใจที่จะทำหน้าที่ ICO Portal เช้ามาหารือกับ ก.ล.ต.แล้ว 4-5 ราย ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหารเป็นไปตามเกณฑ์ fit and proper

โดยเงื่อนไขในการยอมรับของ ก.ล.ต.อาจครอบคลุมถึงการทำ due diligence และคัดกรองผู้ระดมทุนจากผู้ที่ไม่สุจริต รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ของแผนธูรกิจ และโครงสร้างการกระจายดิจิทัลโทเคน การตรวจสอบ source code ของ smart cantact ที่จะ enforce สัญญาอัตโนมัติเทียบกับ white paper มีกระบวนการทำความรู้จักตัวตนของผู้ลงทุน การดูแลให้ผู้ออก ICO เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ดูแลการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับผู้ออก ICO และนักลงทุนตามที่ ก.ล.ต.กำหนด การมีข้อมูลปัจจุบันของการซื้อขายหรือถือครองโทเคน และการให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต.ภายหลังการเสนอขาย

ก.ล.ต.ยังมองถึงประเด็นอื่นที่อาจจะครอบคลุมถึง ได้แก่ การให้สิทธิผู้ลงทุนยกเลิกการจองซื้อ ICO ได้จนถึง 48 ชั่วโมง ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาระดมทุน และการให้ผู้ออก ICO จำนวนเงินขั้นต่ำที่จะต้องระดมทุนได้แต่ละครั้ง (soft cap) โดยในกรณีที่ไม่สามารถระดมทุนได้ตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ผู้ออกจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนให้ผู้ลงทุน นอกจากนั้น ยังอาจกำหนดและเปิดเผยจำนวนเงินสูงสุดที่ต้องการระดมทุน (hard cap) เพิ่มเติมด้วยได้

สำหรับประเด็นเงินสกุลดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่อาจต้องเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการทำ ICO นั้น คงต้องขึ้นกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นผู้ดูแลนโยบายการเงินของประเทศ ซึ่งล่าสุดผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่ายังไม่มีมาตรการในการควบคุมการลงทุนบิตคอยน์ เนื่องจากยังเป็นการลงทุนอยู่ในวงจำกัดและไม่ได้มีปัญหากระทบระบบในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สกุลเงินดิจิทัล หรือ โทเคน ยังไม่สามารถนับเพิ่มเป็นสินทรัพย์ในการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบันได้ ส่วนสถาบันประเภท บริษัทจัดการลงทุนจะสามารถออก ICO ได้หรือไม่นั้น คงต้องหารือกันอีกครั้ง ซึ่ง ก.ล.ต.ยังเปิดรับความเห็นอยู่ แต่ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความเสี่ยง และการคำนวณ NAV


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ