ทีโอที กางแผนปี 61 คาดพลิกมีกำไร 2 พันลบ.หลังเซ็นสัญญาพันมิตรธุรกิจ ADVANC-DTAC, ปีนี้ยังขาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 22, 2017 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที กล่าวว่า ในปี 2561 ทีโอทีจะกลับมามีกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท หากได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจคลื่น 2300 เมกกะเฮิรตซ์ กับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค ภายในต้นปีหน้า ซึ่งทีโอทีจะเริ่มได้รับรายได้จากสัญญาดังกล่าวภายในสิ้นไตรมาสแรกของปี หรือ หลังจาก 3 เดือนที่เซ็นสัญญา โดยรายได้ที่จะได้รับในปีหน้าอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมาจากรายได้ที่ทีโอทีคาดว่าจะเซ็นสัญญาภายในสิ้นปีนี้กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ในคลื่น 2100 เมกกะเฮิรตซ์ อีกกว่า 10,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้ประจำของบริการทีโอทีเองแล้ว คาดว่าปีหน้าทีโอทีจะมีรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสือมราคา หรือ EBITDA อยู่ที่ 11,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีผลประกอบการในปี 2560 ทีโอทียังคงขาดทุนอยู่ โดยผลประกอบการ 11 เดือนอยู่ที่ 32,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้คือ 34,000 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท และมี EBITDA ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่เมื่อนำค่าใช้จ่ายอีก 1 เดือนที่เหลือและหักค่าเสื่อมคาดว่าทีโอทียังขาดทุนแต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้ว่าขาดทุนเท่าไหร่ เพราะอยู่ระหว่างการรอตัวเลขค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อมอีก 1 เดือนที่เหลือมาคิด ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทีโอทีขาดทุนลดลง 55 % โดยมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร เช่น การจัดซื้อในราคาถูกลง เป็นต้น

“เรามีความหวังว่าการเซ็นสัญญากับเอไอเอสต้องทันภายในปีนี้ เพราะร่างสัญญาต่างๆ ผ่านความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว รอเพียงการนัดวันเซ็นสัญญาเท่านั้น เราจะมีรายได้ที่แน่นอนเดือนละ 325 ล้านบาท ส่วนร่างสัญญาที่ทำกับดีแทคกำลังอยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าภายในต้นปีจะสามารถเซ็นสัญญาได้ " นายมนต์ชัย กล่าว

นายมนต์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการเน็ตประชารัฐ ทีโอทีได้ติดตั้งครบทั้ง 24,700 หมู่บ้านแล้วในวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยทีโอทีจะสามารถมีรายได้จากการบำรุงรักษาโครงข่ายหลังจากติดตั้งโครงข่ายครบ 1 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นทีโอทีได้ทยอยติดตั้งโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงข่ายแรกที่ติดตั้งจะครบ 1 ปี ประมาณกลางปีหน้า นอกจากนี้ทีโอทียังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากบริการ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ รวมถึงแอปพลิเคชั่นบนโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ ส่วนเรื่องการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมให้บริการเข้าสู่ครัวเรือนประชาชนหรือไม่นั้น ตนมองว่าราคาที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กำหนดที่ 349 บาทต่อเดือนนั้น เป็นราคาที่ต่ำเกินไป เพราะแม้ว่ากระทรวงจะเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายจากเมืองสู่พื้นที่ที่หางไกลก็ตาม แต่อย่าลืมว่าเอกชนก็มีต้นทุนของโครงข่ายที่อยู่ในเมืองด้วย ดังนั้นหากทีโอทีจะเข้าร่วมโครงการก็ต้องมองหาวิธีการลดต้นทุนบางอย่างเพื่อให้สามารถให้บริการกับประชาชนได้

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ร่างสัญญาคลื่น 2300 เมกกะเฮิรตซ์ ระหว่างทีโอที และ ดีแทคนั้น ไม่ได้ผิดกฎหมาย สามารถทำได้ เพียงแต่กสทช.ต้องการให้เขียนให้ชัดเจนว่าทีโอทีต้องเป็นผู้ดูแลทั้งหมดไม่ใช่ดีแทคดูแล ส่วนทีโอทีจะแก้ร่างสัญญาแล้วส่งให้อัยการใหม่ หรือ ทำไปเลยหากอัยการตอบกลับร่างสัญญาว่าผ่านแล้ว แล้วจึงค่อยทำเอกสารเพิ่มเติมชี้แจงให้ชัดเจนตามที่กสทช.แนะนำก็ทำได้ อยู่ที่ว่าทีโอทีกล้าหรือไม่ เหมือนกรณีของสัญญาบีเอฟเคทีกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ทำเมื่อครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนสาเหตุที่วาระเรื่องนี้ถูกเลื่อนเข้าที่ประชุมนั้น เนื่องจากสำนักงานยังทำเอกสารไม่เรียบร้อย และก็คาดว่าการประชุมคณะกรรมการกสทช.ในวันที่ 27 ธ.ค.ที่จะถึงนี้วาระดังกล่าวก็ยังไม่เข้าที่ประชุมอยู่ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ