(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับขึ้นทดสอบ 1,800 จุด ก่อนเผชิญแรงขายกดตลาดย่อเล็กน้อย,ราคาน้ำมันขึ้นยังหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 5, 2018 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงเช้ามีโอกาสที่ดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นไปทดสอบระดับ 1,800 จุด และหลังจากนั้นคาดว่าจะเห็นการย่อตัวลงมาจากแรงขายทำกำไร โดยมองว่าภาพรวมการปรับตัวขึ้นของดัชนีในวันนี้จะทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ ตลาดฯมีปัจจัยหนุนมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯได้ประกาศสต็อกน้ำมันดิบต่ำกว่าที่ตลาดคาด อีกทั้งผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯงวดปี 60 มีแนวโน้มจะออกมาดี ส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก และในช่วงเช้านี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เปิดทำการซื้อขายแล้วส่วนใหญ่ดัชนีปรับตัวขึ้น ยกเว้นตลาดหุ้นสิงคโปร์ และไต้หวัน ที่ดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อย

พร้อมให้แนวต้าน 1,800 จุด แนวรับ 1,783 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (4 ม.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,075.13 จุด เพิ่มขึ้น 152.45 จุด (+0.61%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,723.99 จุด เพิ่มขึ้น 10.93 จุด (+0.40%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,077.91 จุด เพิ่มขึ้น 12.38 จุด (+0.18%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 136.67 จุด , ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 0.75 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 157.38 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 8.29 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 1.18 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 1.34 จุด ,ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 10.39 จุด ,ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 3.58 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (4 ม.ค.61) 1,791.02 จุด เพิ่มขึ้น 12.49 จุด (+0.70%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,083.18 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 ม.ค.61
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (4 ม.ค.61) ปิดที่ระดับ 62.01 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 38 เซนต์/บาร์เรล หรือ 0.6%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (4 ม.ค.61) ที่ 6.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 32.20 บาท แข็งค่าต่อจากเย็นวานนี้ตามสกุลเงินภูมิภาค,มองกรอบวันนี้ 32.10-32.25 บาท
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยหุ้นไทยเนื้อหอมต่างชาติรุมตอม สร้างประวัติศาสตร์ทำสถิติดัชนีซื้อขายกระหน่ำ ระหว่างวันนับแสนล้านบาทสูงสุดในรอบ 43 ปีที่ 1,791.39 จุด มูลค่าซื้อขายกว่า 9 หมื่นล้านบาท และรองนายกรัฐมนตรี เผยผลบวก จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทย สะท้อนทิศทางอนาคตเติบโตไปในทิศทางที่ดี คาดดัชนีพุ่งขยับแตะสูงถึง 2,000 จุด ส่วนราคาทองคำสวนทาง ปรับลดลง 150 บาท
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเปิดตลาดปี 61 แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 32.22 บาทต่อดอลล์าร์สหรัฐ หลังแข็งค่าทะลุแนว 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นแนวสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯตามปัจจัยทางเทคนิคตามมา ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงไร้ปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นท่าทีที่ต่างจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยซึ่งมีโอกาสทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 61
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธ.ค.60 พบว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 79.2 สูงสุดในรอบ 35 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ.58 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปี รวมทั้งเริ่มมีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดยังไม่คล่องตัว
  • โบรกชี้ mai เริ่มน่าสนใจลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า มองกลุ่มเทคโนโลยีโดดเด่นสุด แถมแรงขาย LTF/RMF ไม่กระทบหุ้น mai จึงให้น้ำหนัก Overweight ชู ATP30, ARROW, COMAN, CMO, MGT และ PPS โดดเด่น พร้อมชี้กลุ่มอสังหาฯกำไรพีคสุด 181%
*หุ้นเด่นวันนี้

-MINT (ฟินันเซียฯ) แนะ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 48 บาท มองเป็นหุ้นใน SET50 ที่ยัง laggard และด้วยพื้นฐานที่ไม่ได้มีประเด็นกดดัน ทำให้คาดว่า MINT จะกลับมาได้รับความน่าสนใจในฐานะ laggard play เร็วๆนี้ โดยคาดกำไร 4Q60-1Q61 โตทั้ง Q-Q และ Y-Y จากไฮซีซั่นโดยคาดว่าจะได้เห็นกำไรทำจุดสูงสุดใหม่ใน 1Q61 ขณะที่ธุรกิจอาหารคาดว่าจะค่อยๆฟื้น และ SSSG จะพลิกเป็นบวกใน 4Q60 คาดกำไรทั้งปี 60 ที่ 5.6 พันล้านบาท +23% Y-Y ส่วนปี 61 คาด +15% Y-Y อยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท จากการขยายตัวในทุกธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ

-SQ (เออีซี) แนะ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 6.65 บาท คาดกำไรปี 60 โต 18.4% YoY และคาดโตต่อ 29.7% YoY หนุนด้วย Backlog ปัจจุบันที่มีอยู่ราว 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดรองรับรายได้ต่อเนื่องราว 9 ปี อีกทั้งยังมีผลของการประหยัดต่อขนาดหนุนมาร์จิ้นขยับเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside 31.7% และคาดให้ Div.Yield ปีนี้ที่ 2.1%

-CBG (ซีไอเอ็มบี) แนะ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 99 บาท คาดยอดส่งออกของ CBG จะเติบโตเฉลี่ย 52% CAGR ในปี FY17-19 จากการบุกตลาดจีนเชิงรุกและเดินหน้า ขยายกิจการเข้าสู่ตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม พร้อมประมาณการปริมาณขายในตลาดจีนอยู่ที่ 307 ล้านกระป๋องในปี FY61 และ 476 ล้านกระป๋องในปี FY62 ซึ่งประมาณการในปีหน้าอยู่ในช่วงล่างของกรอบเป้าหมายของบริษัทที่ 300-500 ล้านกระป๋อง และแม้ ICUK (บริษัทย่อยใน UK ของ CBG) จะยังไม่ทำกำไรในปี FY62 แต่ยอดขายน่าจะทยอยเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่จัดจำหน่ายหลังบริษัทสามารถวางจำหน่ายสินค้าในเครือข่าย modern trade ใน UK หลายบริษัท ส่งผลให้ประมาณการปริมาณขายใน UK อยู่ที่ 9.8 ล้านกระป๋อง, 23.2 ล้านกระป๋องและ 51.4 ล้านกระป๋องในปี FY60-62 ตามลำดับ ทั้งนี้ประมาณการที่ออกมาในปีหน้ายังต่ำกว่าเป้าของ CBG ที่ 40 ล้านกระป๋อง แต่มองว่ายอดขายใน UK อาจมี upside จากการวางจำหน่ายสินค้าในสาขาของ Tesco PLC (TSCO LN, Not Rated) ใน UK ซึ่งน่าจะอยู่ในราว 1H61

-PSL (ไอร่า) แนะ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 14.10 บาท แนวโน้ม 4Q60 ดีกว่า 3Q60 ล่าสุดค่าระวางเรือเฉลี่ย เพิ่มขึ้นกว่า 20% QTD โดยค่าเฉลี่ย QTD ดัชนี Baltic Supramax และ Handymax เพิ่มขึ้น 25% และ 29% ตามลำดับ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้ PSL มีกำไรใน 4Q60 ราว 100 ล้านบาท และเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดในรอบหลายปี โดยประเมินว่าค่าระวางใน 4Q60 จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปี โดยได้รับแรงหนุนจากการเข้าสู่ช่วง High Season ที่ปกติแล้วในเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะเป็นช่วงที่กิจกรรมการนำเข้าสินแร่เหล็ก และถ่านหิน ของจีน อยู่ในช่วงสูงสุด และมองว่า Demand-Supply กำลังเข้าสู่สมดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าปริมาณเรือปลดระวางจะชะลอลงบ้าง หลังจากค่าระวางเรือปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับข้อกำหนดการจัดการน้ำถ่วงเรือที่เลื่อนออกไปเป็นปี 63 และเปิดโอกาสให้เรืออายุมากยังอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ในแง่ของเรือสั่งต่อใหม่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากสถานะทางการเงินของทั้งอู่เรือและผู้ประกอบการเดินเรือที่ไม่อำนวย ล่าสุด Order Book ของเรือเทกองอยู่ที่ 7.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (ช่วงเลวร้ายอยู่ที่ราว 70% ในปี 51) ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์เรือเทกองในปี 61 จะดีกว่าปี 60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ