(เพิ่มเติม) SAMART ตั้งเป้ารายได้รวมปี 61 สูงกว่าปีก่อนมาที่ 2 หมื่นลบ./คาดนำ“สามารถ ทรานส์โซลูชั่น"เข้าตลาดหุ้นปลายปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 26, 2018 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 61 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้มาจากบมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ราว 1 หมื่นล้านบาท และจะทยอยรับรู้ 3 ปี ขณะเดียวกันคาดว่าจะนำบริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปลายปีนี้

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้ SAMTEL มีโอกาสจะได้รับงานใหม่ราว 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้วได้เซ็นสัญญางานใหม่ 80 โครงการ รวมมูลค่า 6 พันล้านบาท โดยปีนี้ภาครัฐจะมีการลงทุนด้านไอซีทีภายในประเทศถึง 5 แสนล้านบาท ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 60-64 จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยคาดว่าในไตรมาสแรกปีนี้จะได้งานราว 20-30% ของงานใหม่ที่คาดว่าจะได้

นอกจากนี้ SAMTEL เตรียมจะเปิดบริการ Cyber Security Solution ภายใต้ชื่อ บริษัท SAMART SecureInfo ซึ่ง SAMTEL ถือหุ้น 100% ที่จะให้บริการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลระดับสูงสุด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปลายไตรมาส 2/61 จะมีลูกค้าหน่วยงานราชการและเอกชนที่ให้ความสำคัญความปลอดภัยสูง อาทิ การไฟฟ้าฝายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การท่าอากาศยาน ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ทั้งนี้จะลงทุน 400-500 ล้านบาท สำหรับวางระบบความปลอดภัย และsolution ของไอบีเอ็ม

สำหรับบมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) คาดว่าปี 61 จะมีรายได้อย่างน้อย 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่คาดว่าจะทำได้ลดลงมากเมื่อเทียบจากปี 59 ขณะที่ในปีนี้มีโอกาสที่จะพลิกมีกำไรได้ ซึ่งจะเร็วกว่าแผนที่คาดว่าจะกลับมามีกำไรในปี 62 หลังจากเปลี่ยนธุรกิจจำหน่ายมือถือ มาเป็นธุรกิจ Digital Trunked Radio และให้เช่าเสาสัญญาณ Co-Tower ในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่จะเริ่มรับรู้รายได้ปีนี้ โดยบริษัทได้ลงทุนโครงข่ายรองรับ Digital Trunked Radio จำนวน 1,000 สถานี วงเงิน 2.5 พันล้านบาท สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะมีลูกค้า 50,000 -100,000 ราย และคาดว่าจะได้เพิ่มอีก 1 แสนราย จากหน่วยงานราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอขั้นตอนการอนุมัติ และตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าเป็น 3-4 แสนรายภายในปี 63 โดยบริษัทจะมีรายได้จากค่าใช้บริการรายเดือนๆละ 800 บาทต่อเครื่อง และรายได้จากการจำหน่ายเครืองลูกข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล (Digital Trunked Radio) ราคาเครื่องละ 2-6 หมื่นบาท ขณะเดียวกันการลงทุนเสาสัญญาณ มีวงเงิน 2.5 พันล้านบาท ซึ่งทยอยลงทุนในช่วงปลายปี 60 และจะลงทุนในปีนี้อีก 200-300 ต้น

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้จะนำบริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด เข้าตลาดหุ้นในปลายปีนี้ โดยบริษัทนี้จะเข้าถือหุ้น 100%ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจวิทยุการบินในประเทศกัมพูชา โดยได้ต่อสัญญาเพิ่มเติมอีก 7 ปี จากเดิม 32 ปี เป็น 39 ปี (ปี 44-83) โดยในสัปดาห์หน้าจะคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ภายใน 6 เดือนนี้ซึ่งจะนำเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ราว 20%ของทุนจดทะเบียน

นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจ SAMART U-trans ยังมีบริษัท เทด้า ที่สร้างรายได้จากบริหารงานก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงโดยมีงานในมือแล้วกว่า 2 พันล้านบาท และเตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการนำสายไฟลงใต้ดินที่มีต่อเนื่องในปีนี้ด้วย โดยคาดว่าปีนี้กลุ่มนี้จะสร้างรายได้ราว 4 พันล้านบาท

รวมทั้งกลุ่มธุรกิจนี้ ยังเตรียมการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าขยะ ที่เตรียมพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และแพร่ มีขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ ขณะนี้รอให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเรื่องขยะให้เรียบร้อย และจะส่งเรืองให้กระทรวงพลังงานดำเนินการเรื่องโรงไฟฟ้าขยะต่อไป โดยคาดว่ารัฐบาลจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในไตรมาส 3-4 ปีนี้ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) นั้นให้ความสนใจในโครงการโซลาร์รูฟท็อป ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง ในกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้รอให้รัฐบาลปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ให้เสร็จก่อนซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนเม.ย.นี้ รวมทั้งสนใจเข้าร่วมประมูลงานของกรมทางหลวงที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ PPP ในงาน O&M ของโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และ สายบางใหญ่-กาญจบุรี

ส่วนบมจ.วันทูวันคอนแทคส์ (OTO) คาดว่าปีนี้ทำรายได้ 1 พันล้านบาท จากปีก่อนที่รายได้จากธุรกิจปรับลดลง

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้ SAMART จะเปลี่ยนจากบริษัทโฮลดิ้งคัมปานีอย่างเดียวมาเป็นบริษัท Operating Company ควบคู่ไปด้วย เพราะไม่ต้องการรอเงินปันผลจากบริษัทลูกเพียงอย่างเดียว โดยจะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในโลกดิจิทัล โดยกำลังจะเปิดรับสมัคร ผู้ที่ไอเดียธุรกิจใหม่ ภายใต้โครงการ"SAMART Next Forum" โดย SAMART จะร่วมทุนช่วยเหลือทางการเงินและให้การลงทุนเพิ่มมูลค่า เพราะส่วนใหญ่ตุ้องการเป็นเจ้าของธุรกิจแต่ไม่มีทั้งเงินทุนและไม่รู้จักคน หรือไม่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน SAMART ก็กำลังพิจารณาโครงการของตัวเอง 2-3 โครงการ

“ปี 60 ผลประกอบการไม่ได้เป็นไปตามเป้า เราก็ transform ไปแล้ว ในปี 61 เป็นปีที่ challenge ท้าทายความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย SAMTEL จะดีที่สุด SAMART Digital คงเปลี่ยนแปลงไป SAMART U-trans จะมีโอกาสขยายธุรกิจใหม่…มองว่ายังมีโอกาสเยอะแยะ จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปีนี้ SAMART จะไม่เป็นแค่ Holding Company แต่จะเป็น Operating Company ด้วย “นายวัฒน์ชัย กล่าว

ในปีนี้ สัดส่วนรายได้ของ SAMART หลักมาจาก SAMTEL สัดส่วน 50% รองลงมา SAMART U-trans สัดส่วน 30%, SDC 15% และอื่นๆ 5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ