(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้นจากเงินไหลเข้าต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 7, 2018 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.74% อยู่ในภาวะร้อนแรง (Bullish) เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และนับเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ระดับความเชื่อมั่นสูงกว่าภาวะร้อนแรงขึ้นไป

ปัจจัยหนุนที่สำคัยจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตดีและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุดเช่นกัน รองลงมา คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงขึ้นเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

ทั้งนี้ นักลงทุนเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัวดี ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ และมีเงินไหลเข้าในประเทศและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

"ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย. 61) อยู่ที่ 156.62 อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120 - 160) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.74% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 153.94" นายสันติ กีระนันทน์ ผู้แทน FETCO กล่าว

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มสถาบันภายในประเทศและกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังเฝ้าจับตาการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจกระทบต่อผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มธุรกิจส่งออก เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่น

นายสันติ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเดือน ม.ค.ดัชนีฯมีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นโดยดัชนีฯได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยราคาปิดสูงสุดที่ระดับ 1,838.96 จุดในวันที่ 24 ม.ค.61 โดยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดทุน จากตัวเลขเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่มีการคาดการณ์การขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกปี 61-62 เป็นขยายตัว 3.9% ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายเงินทุนดังกล่าว อีกด้านหนึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นปัจจัยฉุดการลงทุนเช่นกัน จากผลของค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคที่เข็งค่าอาจกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในสหรัฐและยุโรป ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในปีนี้ 3-4 ครั้ง

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ก.พ.61 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนก.พ.นี้ อยู่ที่ระดับ 52 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก 3ประการ ได้แก่ 1)การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่สูงนัก 2) อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และ 3) อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินโลก

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง.รอบนี้ น่าจะอยู่ที่ระดับ 78 และ 87 ตามลำดับ ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ปรับลดลงจากครั้งที่แล้วที่ 83 ขณะที่ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปรับขึ้นจากครั้งที่แล้ว คือระดับ 83

ดัชนีทั้งสองอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางที่เพิ่มขึ้นทั้งคู่ แต่ตลาดมีความมั่นใจที่มากขึ้นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี จะปรับสูงขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญใน 4 ปัจจัยหลัก คือ 1) อุปสงค์ อุปทานในตลาดตราสารหนี้ไทย 2) Fund Flow 3) การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และ 4) อัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

"ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจาก การขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงต่ำกว่ากรอบนโยบาย"น.ส.อริยา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ