บล.เอเซีย พลัส มองตลาดหุ้นไทย Q2/61 แรงขายต่างชาติเริ่มจำกัด จับตาปัจจัย ตปท.-การเมืองในประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 7, 2018 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เอเซีย พลัส (ASP) เผยแพร่บทวิเคราะห์"กลยุทธ์การลงทุนในงวดไตรมาส 2/61"ว่า แรงขายหุ้นไทยจากต่างชาติเริ่มมีจำกัด โดยหากพิจารณา Fund FIow ในภูมิภาค ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพบว่าต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคกว่า 5.39 พันล้านบาท และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 59-61 (19.8%, 13.7% และ (ytd) 3.15%) จึงไม่แปลกที่เกิดแรงเทขายทำกำไรออกมา

ส่วนแนวโน้ม Fund FIow ในตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2/61 คาดว่ามีแรงขายยังมีอีก เนื่องตลาดหุ้นยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ ทั้งยังมีแรงขายทำกำไรหลังจากนักลงทุนได้รับปันผลอีก ซึ่งแรงขายดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติในอดีต (ย้อนหลัง 10 ปี) ที่ต่างชาติมักขายสุทธิหุ้นไทยในไตรมาสที่ 2 เฉลี่ยราว 1.87 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายสุทธิสูงถึง 7 ใน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงขายเข้ามาเร็วและแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าซื้อสะสมสุทธิหุ้นไทยปรับตามมูลค่าตลาด ตั้งแต่ปี 48 จนถึงปัจจุบัน เหลือเพียง 2.38 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิสูงสุดที่ 4.69 แสนล้านบาท (ณ วันที่ 15 มี.ค.56) ดังนั้นแม้จะมีแรงขายเข้ามาอีก แต่เชื่อว่าแรงขายน่าจะเริ่มมีจำกัด

เอเชีย พลัส มองวา ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีเพิ่มขึ้น โดยการค้าโลกแม้มีแนวโน้มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่อาจเผชิญปัญหาการกีดดันทางการค้าสหรัฐที่รุนแรงขึ้นด้วยการไม่ต่อ GSP และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอีกหลายรายการ (แผงโซลาเซลล์, เครื่องใช้ซักผ้า, เหล็ก, อลูมิเนียม, น้ำมันไบโอดีเซล และยางรัด) กระทบประเทศคู่ค้าในวงกว้าง นอกเหนือจากค่าเงินโลกที่ผันผวน ซึ่งน่าจะกดดันการส่งออกไทยในปีนี้เติบโตชะลอลง ประเมิน GDP Growth ปี 61 ขยายตัว 4.2% มาจากการลงทุนและการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

ส่วนภาคการส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะชะลอตัวจากปี 60 นอกจากอุปสรรค การกีดกันทางการค้าสหรัฐที่รุนแรงแล้ว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าติดต่อกัน 2 ปี และแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจึงน่าจะมาจากในประเทศเป็นหลัก คือ การลงทุนในประเทศโดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดขอส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปี 60 เพิ่มขึ้น 22% ซึ่ง 61% กระจุกตัวใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S Curve และNew S Curve) รวมถึง พ.ร.บ. EEC ที่พร้อมประกาศใช้ในไตรมาส 1/61 ซึ่งมุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี

ขณะที่การลงทุนภาครัฐลงทุนภาครัฐน่าจะเห็นความคืบหน้ามากขึ้น จากปี 60 ที่เผชิญกับปัญหา พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฯ โดยคาดว่าปี นี้น่าจะมีโครงการที่อนุมัติและรอประมูลกว่า 1.52 แสนล้านบาทเกิดขึ้นได้ เทียบกับปี 60 ที่มีการประมูลเพียง 1.1 แสนล้านบาท

และสุดท้ายการบริโภคครัวเรือนยังคงฟื้นตัวตามมาตรกระตุ้นภาครัฐ โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3.5%, บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเดือนละ 300-500 บาทระยะเวลาตั้งแต่ ม.ค.-ธ.ค.61 และภาษีท่องเที่ยว นำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวจังหวัดรอง 55 จังหวัดมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทจนถึงปลายปีนี้ เป็นต้น ทำให้โดยรวม ASPS คาดการณ์ GDP Growth ขยายตัว 4.2% ในปีนี้ และแตะ 4.4% ในปี 62

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้นชัดเจนเห็นได้จากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นำโดยสหรัฐที่นำร่องขึ้นไปก่อนและยังมีแนวโน้มขึ้นในปี 2561 อีก 3 ครั้ง ตามมาด้วยอังกฤษ ที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปีเมื่อปลายปี 2560 และ ยังมีแนวโน้มอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ยุโรปน่าจะเป็นรายต่อไปที่เริ่มเดินหน้ากลับมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้นในช่วงไตรมาส 4/61 หลังจากที่แผนการใช้มาตรการ QE สิ้นสุดในเดือน ก.ย.2561

ส่วนทางฝั่งเอเชีย แม้ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการคงอัตราดอกเบี้ย ต่อเนื่อง ยกเว้นมาเลเซียที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อ เดือน ม.ค.2561 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจนเกินกว่าดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณจะใช้นโยบายการเงินตึงตัวในปี 2562 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่กระเตื้องพุ่งขึ้นแรงอยู่ที่ 1.4% ในเดือน ก.พ.จาก 0.2% ในช่วง พ.ย.2560

ขณะที่ไทยเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% (ตั้งแต่ เม.ย. 2558) ต่อไปตลอดช่วง 1H61 แต่น่าจะเริ่มปรับขึ้นราว 0.25% ประมาณช่วง 2H61 เนื่องจากสภาพคล่องยังสูง และอัตราเงินเฟ้อไทยยังต่ำทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นขึ้นอยู่กับว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นได้เร็วเพียงใด และ Fund fIow ที่ไหลออกจะทำให้สภาพคล่องในประเทศลดน้อยลงมากน้อยเพียงใด

ด้านพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดการเลือกตั้งทั่วไป (เลือกตั้ง ส.ส.) น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือน ก.พ. 2562 ทั้งนี้ประเมินจากองค์ประกอบที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งสำคัญได้แก่ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับ ที่ต้องมีผลบังคับใช้ ซึ่งในปัจจุบันลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 (บังคับใช้เมื่อ 8 ก.ย.2560) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 (บังคับใช้เมื่อ 10 ต.ค.2560)

ส่วนอีก 2 ฉบับที่เหลือ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ครบทั้ง 3 วาระไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2561 แต่เนื่องจากมีบางมาตราซึ่ง กกต. และ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นที่ขัดแย้ง ทำให้ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาร่วมกันพิจารณา ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะต้องนำผลสรุปเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. อีกครั้งหนึ่ง ซึงกำหนดวันพิจารณาเป็นวันที่ 8 มี.ค.2561 หากผ่านความเห็นชอบ ก็จะนำเข้าสู่ขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศราชกิจจานุเบกษา แต่หาก ผลการพิจารณาของ สนช. ไม่เห็นชอบ (ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียง 2/3 ขององค์ประชุมหรือ 166 เสียงจาก 248 เสียง ถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมาก) กฎหมายทั้ง 2 ฉบับก็จะถือว่าตกไปและต้องเข้าสู่กระบวนการร่างกฎหมายใหม่

ซึ่งหากออกมาในแนวทางนี้การเลือกตั้งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ทัน ก.พ. 2562 แต่จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดเชื่อว่าโอกาสที่ สนช. จะเห็นชอบตามความเห็นที่ กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเสนอจะมีความเป็นไปได้สูงกว่า

กล่าวโดยสรุปคือเชื่อว่า ในการประชุม สนช. วันที่ 8 มี.ค. 2561 สนช. น่าจะผ่านกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

หาก พ.ร.บ. 2 ฉบับสุดท้ายที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งผ่านความเห็นชอบตามที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ ซึ่งน่าจะมีกรอบระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ซึ่งก็น่าจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเดือน มิ.ย. 2561 แต่ด้วยเงื่อนไขใน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็น่าจะมีผลบังคับใช้ในภายในเดือน ก.ย.2561 (ภายใต้สมมุติฐานว่าลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มิ.ย.2561) เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ ราว 5 เดือน ซึ่งก็หมายความว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเกิดขึ้นภายในไม่เกินเดือน ก.พ.2562

นอกจากนี้ เอเซีย พลัส คาดว่าในปี 61 กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนน่าจะอยู่ที่ราว 1.11 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการเดิม แต่ EPS ถูกปรับลดลงมาจาก 113.50 บาท/หุ้น มาอยู่ที่อยู่ที่บริเวณ 111.69 บาทต่อหุ้น สาเหตุมาจากการรวมหุ้น GULF ซึ่งเป็นหุ้นที่มี PER สูงมาก ทำให้ Market Cap.ใหญ่กว่าฐานกำไรสุทธิหลายเท่าตัว ดังนั้นเมื่อคำนวณหาจำนวนหุ้นใหม่ที่จะใช้ปีนี้ โดยการใช้ Market Cap. รวมเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วย SET Index ทำให้ได้จำนวนหุ้นที่สูงขึ้น และส่งผลทำให้ EPS ลดต่ำลงดังกล่าวมาข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามที่ระดับดังกล่าวยังให้ EPS Growth สูง 14% YoY

ส่วนรายละเอียดของการปรับประมาณการรายกลุ่มอุตสาหกรรมปี 61 ยังเป็นในลักษณะเดียวกับปี 60 กล่าวคือ กลุ่มที่ปรับลดได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ อาหาร และ วัสดุก่อสร้าง ส่วนที่ปรับเพิ่ม คือ พลังงาน และปิโตรเคมี สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีฐานกำไรขนาดใหญ่และมีอิทธิพลต่อภาพรวมของกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน สรุป ดังนี้

ธนาคารพาณิชย์ คาดว่ากำไรจะเติบโต 14% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในปีก่อนที่มีรายการตั้งสำรองฯ ที่สูงกว่าคาดทำให้ฐานกำไรปี 60 ต่ำกว่าปกติ ส่วนปี 61 สถานการณ์การดำเนินธุรกิจกลับมาเติบโตตามปกติ โดยหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิที่โดดเด่น คือ KBANK คาดกำไรสุทธิเติบโต 24%, TISCO 23%, TMB 21%, KTB 19%, BBL 14% และ KKP 13%

พลังงาน คาดกำไรสุทธิของกลุ่มเติบโต 7% นำโดย PTTEP คาดกำไรสุทธิเติบโต 58%, ตามด้วย BANPU 26% ส่วนหุ้นปิโตรเลียม-โรงกลั่นอื่นๆ เติบโตไม่มากนัก โดย PTT คาดโต 5%, IRPC 6%, BCP 5% ส่วนหุ้นโรงไฟฟ้าเติบโตได้ดี เช่น TPIPP 123%, CKP 116%, BPP 46%, BCPG 39%, BGRIM 23% เป็นต้น

ปิโตรเคมี สถานะตรงข้ามกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ กำไรสุทธิลดลง 2% เป็นเพราะการบันทึกผลบวกจากการที่ราคาสินค้าปรับขึ้นในปี 2560 ทำให้ฐานกำไรปี 60 สูงกว่าปกติ ส่วนประมาณการปี 61 ไม่ได้รวม Stock Gain / Loss เข้าไปในประมาณการ โดยหากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติ พบว่า PTTGC เติบโต 8% ส่วน IVL กำไรปกติลดลงเล็กน้อย 5%

ICT กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 55% เกิดจากการคาดหมายว่า TRUE และ JAS จะมีการบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์ เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากไม่รวมรายการดังกล่าว กำไรจากการดำเนินงานปกติถือว่าทรงตัว

รับเหมาก่อสร้าง คาดกำไรสุทธิ เติบโต 2.70 เท่าตัว จากปี 2560 เป็นผลมาจากการปรับปรุงต้นทุนรวมถึงการบันทึกรายการค่าใช้จ่ายพิเศษที่เป็นความเสียหายของหลายบริษัทในปี 60 ทำให้ฐานกำไรสุทธิต่ำกว่าปกติมาก ขณะที่ปี 61 ไม่ได้มีรายการพิเศษดังกล่าว

ค้าปลีก คาดกำไรสุทธิเติบโต 21% ตามภาวะการเติบโตของการบริโภคในประเทศ หนุนให้ SSSG กลับมา ฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดย BEAUTY คาดกำไรสุทธิเติบโต 47% ตามด้วย BJC 46%, COM7 ที่ 29%, HMPRO 17%, ROBINS 17% และ CPALL 12%

อาหาร คาดกำไรสุทธิเติบโตราว 7% โดย CPF คาดกำไรสุทธิเติบโต 7% จากธุรกิจสุกรในเวียดนามฟื้นตัว, TFG คาดโต 16% ขณะที่หุ้นร้านอาหาร-เครื่องดืม คือ M เติบโต 9%, OISHI 8%, ICHI 11% และ TKN 39%

อสังหาฯ คาดกำไรสุทธิเติบโตราว 6% ที่โดดเด่น เช่น SC กำไรสุทธิโต 74%, ORI 69%, LPN 56%, ANAN 51% ขณะที่หุ้นนิคมฯ อย่าง WHA และ AMATA โต 37% และ 11% ตามลำดับ

กลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง นำโดย MTLS และ SAWAD เติบโต 37% และ 33% ตามลำดับ

กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม นำโดย ERW และ CENTEL เติบโต 88% และ 11% ตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มที่เติบโตแรงจากปี 60 ที่มีฐานกำไรต่ำ คือกลุ่มบันเทิง เติบโต 494% (นำโดย RS เติบโต 194% PLANB 56% WORK 55% และ VGI 46%) และ กลุ่มเกษตรเติบโต 129% (นำโดย STAที่พลิกกลับมาเป็นกำไร จากขาดทุนในปีที่แล้ว )

ยกเว้น กลุ่มโรงพยาบาล คาดปี 61 กำไรสุทธิหดตัวลง 7 % (เนื่องจากปีที่แล้ว BDMS มีการบันทึกกำไรพิเศษ) ทั้งนี้หุ้นที่มีการเติบโตมากกว่ากลุ่มคือ CHG 11% BH 11% LPH 10% RJH 7% BCH 7% เป็นต้น

และ เมื่อพิจารณา EPS Growth ปี 61 พบว่าตลาดหุ้นไทยเติบโตราว 14% ถือว่าใกล้เคียงหรือสูงกว่า ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเล็กน้อย กล่าวคือ ตลาดหุ้นเวียดนามเติบโต 14.1% อินโดนีเซีย 13.4%, จีน 13.3%, ฟิลิปปินส์ 11.1% ยกเว้นมาเลเชียมีการเติบโตที่ค่อนข้างน้อย เพียง 5.7% เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ