(เพิ่มเติม) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าหดตัว กังวลเลือกตั้ง-เฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 12, 2018 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ โกสีย์เจริญ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน มี.ค.61 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.61) อยู่ที่ 143.09 อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (Bullish) โดยมีช่วงค่าดัชนีระหว่าง 120-160 ปรับตัวลดลง 8.70% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 156.62

ทั้งนี้ ค่าดัชนีปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในภาวะร้อนแรงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน จากความเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักลงทุนติดตามสถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายทางการเงินสหรัฐ เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นมากที่สุด

สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือน ก.พ.61 ดัชนีฯมีการปรับฐานโดยลดลงค่อนข้างมากในช่วงต้นเดือน หลังจากนั้นทยอยปรับเพิ่มขึ้นตลอดเดือน โดยดัชนีฯปิดทำการ ณ สิ้นเดือน ก.พ.อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นเดือน ม.ค.

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก กลุ่มสถาบันภายในประเทศและกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงโดยยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากระดับร้อนแรงอย่างมาก มาอยู่ที่ระดับทรงตัว

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ส่วนหมวดธนาคาร (BANK) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

"ภาวะการลงทุนในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับฐานราคาลดลงไปอยู่ต่ำสุดของเดือนที่ 1758.31 จุด ในช่วงต้นเดือน ตามการปรับฐานในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐที่มีการปรับตัวลดลงมากกว่า 1,000 จุด ในวันเดียว อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ดัชนีฯได้ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดเดือน โดยปรับตัวกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับดัชนีฯของเดือนมกราคม ในช่วง 1820-1830 จุด

ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นจากคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน จากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่มีการเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนหันกลับมาติดตามความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมากขึ้น โดยให้น้ำหนักเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ นโยบายทางการเงินของสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้"นายกีรติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ