SOLAR คาดผลงานปีนี้ดีกว่าปีก่อน รับรู้ฯงาน EPC ระบบโซลาร์เซลล์ในมือ 360 ลบ.-โซลาร์รูฟท็อปหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 2, 2018 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ดีขึ้นจากปีก่อน จากงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ (EPC) ที่เป็นปัจจัยหนุนหลัก ซึ่งมีปริมาณงานของภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับบริษัทมีมูลค่างาน EPC ในมืออีกราว 360 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีรายได้ที่มาจากโครงการโซลารฟาร์มที่มีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วเข้ามาอย่างต่อเนื่องจำนวน 14 เมกะวัตต์ (MW) และในช่วงเดือนธ.ค. 61 จะมีการ COD โครงการโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาเสริมอีก ซึ่งบริษัทจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายไฟเข้ามาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
"แม้ว่าแนวโน้มของรายได้จะดีขึ้น แต่ในแง่ของบรรทัดสุดท้ายของบริษัทยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งถึงจะฟื้นตัวกลับมา คงไม่ Turnaround ได้รวดเร็ว แต่ปีที่แล้วที่เราเผชิญความยากลำบาก และทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น เพราะเรามีการลงทุนที่ค่อนข้างหนัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเยอะ และในเรื่องของสภาพคล่องก็มีปัญหา การรับงานโครงการก็มีข้อจำกัดในเรื่องของทุนจดทะเบียน ทำให้เราต้องมีการอธิบายถึงการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจ เพื่อปลดล็อกปัญหานี้ของบริษัท ทำให้มีความสามารถในการรับงานเพิ่มขึ้น"นางปัทมา กล่าว

ปีที่แล้ว SOLAR มีผลขาดทุนสุทธิ 189.18 ล้านบาท สำหรับที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ของ SOLAR เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทแบบมอบอำนาจ (General Mandate) โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 326.47 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 163.24 ล้านหุ้น หุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้ประชาชนทั่วไป (PO) จำนวน 108.82 ล้านหุ้น หุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 54.41 ล้านหุ้น ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มเป็น 870.59 ล้านบาท จากเดิมที่ 544.12 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อรองรับความสามารถในการรับงานโครงการต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านแม้ว่าบริษัทจะมีความสามารถและศักยภาพในการรับงานโครงการขนาดใหญ่ แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องทุนจดทะเบียนของบริษัท ทำให้บริษัทไม่สามารถรับงานได้ ประกอบกับการที่ได้เงินเพิ่มทุนเสริมเข้ามา ส่งผลดีต่อสภาพคล่องของบริษัทในการดำเนินธุรกิจ และเข้ามาเสริมในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งช่วยให้ลดการพึ่งพาสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ลดลง เพราะในปีที่ผ่านมายอมรับว่าสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในการลงทุนโครงการ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและผลการดำเนินงานของบริษัทส่วนหนึ่ง ขณะที่ปีนี้บริษัทยังคงไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ หลังจากลงทุนหนักเมื่อปีก่อนในการก่อสร้างโครงการ และการลงทุนขยายกำลังการผลิตแผงโซลาร์ ขนาด 200 เมกะวัตต์/ปี พร้อมกับมีการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะแผงโซลาร์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating solar) ที่ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแนวทางการลงทุนด้านพลังงานทดแทนที่สามารถดำเนินการได้ก่อนที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ จะผ่านการพิจารณาเห็นชอบมี 2 แนวทาง ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ กำลังผลิตราว 30-40 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนศิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากเดิมมีแผนลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ใน 7 โครงการ กำลังผลิตรวม 32 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปรับงานเมื่อภาครัฐเปิดการประมูลโครงการ

นอกจากนี้บริษัทยังคงศึกษาการลงทุนโครงการโซลาร์ในภูมิภาคอาเซียน โดยได้จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อดำเนินงานการลงทุนต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าไปติดตั้งและบริหารโครงการโซลาร์ฟาร์มในเมียนมา ร่วมกับพันธมิตรในประเทศ 1 ราย และพันธมิตรท้องถิ่น 1 ราย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาอีกสักระยะในอีก 1-2 ปีนี้ แต่มีความเป็นไปสูงที่โครงการโซลาร์ฟาร์มในเมียนมาบริษัทจะได้เข้าไปลงทุน ซึ่งบริษัทจะต้องศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนอย่างรอบคอบ ซึ่งจะต้องให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อโครงการ พร้อมกับมองหาโอกาสในการเข้าไปรับงานโซลาร์ในลาวเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ