ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ MTC ที่ระดับ "BBB" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 8, 2018 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ระดับ "BBB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัท การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงจุดแข็งต่าง ๆ ของบริษัทในเรื่องความสามารถในการทำกำไร การตั้งสำรองสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพียงพอ และเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบใหม่สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และหลักปฏิบัติในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการได้อีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เครือข่ายสาขาที่กว้างขวางช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ

บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายพื้นที่ทางการตลาดให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นโดยการเพิ่มจำนวนสาขาเพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้ บริษัทมีการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แถบชานเมืองและในระดับตำบลของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งทำให้จำนวนสาขาของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 506 สาขา ณ สิ้นปี 2557 เป็น 2,638 สาขา ณ เดือนมีนาคม 2561

ในส่วนของสินเชื่อของบริษัทก็เติบโตอย่างรวดเร็วในทิศทางเดียวกัน โดยเพิ่มจาก 7,448 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 35,623 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 68.5% สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 38,012 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 หรือเพิ่มขึ้น 6.7% จากสิ้นปี 2560

ณ เดือนมีนาคม 2561 สินเชื่อที่มีรถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นหลักประกันยังคงเป็นสัดส่วนหลักของสินเชื่อคงค้างของบริษัทโดยคิดเป็น 36.4% ตามมาด้วยสินเชื่อที่มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกใช้แล้วเป็นหลักประกัน (32.8%) และสินเชื่อที่มียานพาหนะทางการเกษตรเป็นหลักประกัน (4.7%) ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันคิดเป็น 9.0% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ในปี 2558 ได้แก่ สินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันและสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพหรือสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ด้วย ณ เดือนมีนาคม 2561 สินเชื่อที่มีที่ดินเป็นหลักประกันมีสัดส่วนคิดเป็น 13.9% ของสินเชื่อคงค้าง ในขณะที่สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คิดเป็น 3.2%

คุณภาพสินเชื่อคงที่และการตั้งสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพสูงกว่าค่าเฉลี่ย

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแม้จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากระดับ 1.1% ณ สิ้นปี 2559 เป็นระดับ 1.2% ณ สิ้นปี 2560 และ 1.3% ณ เดือนมีนาคม 2561 อัตราส่วนดังกล่าวนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลายรายอันเป็นผลมาจากนโยบายอนุมัติสินเชื่อและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพของบริษัท

บริษัทมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่เพียงพอโดยมีจำนวนมากกว่าเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ถึง 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2561 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 260.9% ซึ่งจัดอยู่ในระดับปานกลางแต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่งในธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์

ความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็ง

ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 544 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 2,501 ล้านบาทในปี 2560 ในขณะเดียวกับที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นจาก 7.4% ในปี 2557 เป็น 8.1% ในปี 2560 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 กำไรสุทธิของบริษัทเท่ากับ 834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเท่ากับ 8.8% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)

มีการออกกฎระเบียบใหม่ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของกฎระเบียบตลอดจนผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจโดยรวมยังไม่เป็นที่ปรากฏ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กฎระเบียบใหม่จะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อและค่าบริการ ตลอดจนอาจกระทบต่อหลักปฏิบัติในการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการได้

การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินมีแน้วโน้มดีขึ้น

บริษัทมีโครงสร้างการจัดหาเงินทุนซึ่งมีส่วนต่างด้านระยะเวลาเป็นไปในทางบวกและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ณ เดือนมีนาคม 2561 ประมาณ 30% ของหนี้สินของบริษัทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นซึ่งมีสัดส่วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณ 70% ณ สิ้นปี 2559 บริษัทตั้งใจจะดำรงสัดส่วนการใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นที่ระดับประมาณ 30% เอาไว้ โดยพอร์ตสินเชื่อของบริษัทมีระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18 เดือน

นอกจากนี้ ณ เดือนมีนาคม 2561 บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เพียงพอที่ระดับ 7,330 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับแผนขยายธุรกิจ วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินจะเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัทนอกเหนือจากกระแสเงินสดไหลเข้าที่คาดว่าจะได้รับจากการชำระหนี้ของลูกค้า อนึ่ง บริษัทจัดว่ามีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับภาระการชำระคืนสินเชื่อ

ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทเริ่มปรับดีขึ้นเนื่องจากบริษัทมีการใช้เงินทุนจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง อีกทั้งบริษัทยังสามารถเข้าถึงตลาดทุนเมื่อมีความจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มอีกด้วย

ฐานทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอ

อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 27.4% ณ สิ้นปี 2559 เป็น 24.2% ณ สิ้นปี 2560 โดยพอร์ตสินเชื่อของบริษัทเติบโตในอัตราที่รวดเร็วกว่าการเติบโตของฐานทุน อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 25.2% ณ เดือนมีนาคม 2561 ถึงแม้ฐานทุนของบริษัทจะลดลงในระยะหลัง แต่ก็ยังนับว่าแข็งแรงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ และเพียงพอสำหรับการขยายสินเชื่อในระยะใกล้

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทเป็นกลุ่มที่มีระดับความเสี่ยงสูงและค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในทางลบของภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น การมีฐานทุนที่แข็งแรงจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งมีความเสี่ยงสูงดังกล่าวได้

การก่อหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในระยะปานกลาง ตามข้อกำหนดสำคัญทางการเงินของวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเอาไว้ไม่เกิน 4 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 3 เท่า ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ได้ในระยะปานกลางแม้จะมีแผนการขยายธุรกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่งจากการมีความสามารถในการทำกำไรที่เข้มแข็งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวัง

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและมีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อและการก่อหนี้เอาไว้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่กฎระเบียบใหม่ส่งผลทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพอใจ ในขณะเดียวกันก็สามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับสูงเอาไว้ได้ตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากบริษัทมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ