(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.เตรียมออกเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลภายใน มิ.ย.61 ,ผู้สนใจขอเป็น"ไอซีโอพอร์ทัล"-ตลาดกลาง 10 ราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 8, 2018 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการระดมทุนด้วยรูปแบบของการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนครั้งแรก (ICO) และการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือน มิ.ย.61

สำหรับแนวทางที่เสนอได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนในหลายช่องทาง ทั้งทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (focus group)

คณะกรรมการ ก.ล.ต.อนุมัติแนวทางการกำกับดูแลการออกไอซีโอเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.โดยหลักเกณฑ์ที่จะออกมานี้จะช่วยให้มีความชัดเจนสำหรับผู้ต้องการออกไอซีโอ ตัวกลางที่เกี่ยวข้อง และผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงหรือถูกเอาเปรียบ รวมทั้งช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและป้องปรามการฟอกเงิน

ผู้ที่จะออกไอซีโอ ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลต้องชัดเจน มีการเปิดเผยชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด) มีหนังสือชี้ชวน และมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ

ทั้งนี้ การเสนอขายต้องทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ไอซีโอพอร์ทัล) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งไอซีโอพอร์ทัลจะทำหน้าที่คัดกรองโครงการและทำความรู้จักตัวตนและสถานะผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน

การออกไอซีโอแต่ละครั้งสามารถขายให้ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ กิจการร่วมลงทุนได้ไม่จำกัดและขายผู้ลงทุนรายย่อยได้รายละไม่เกิน 3 แสนบาท นอกจากนี้วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด

ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซื้อขายซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ ในศูนย์ซื้อขายต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซีในรายชื่อที่ประกาศกำหนดเท่านั้น

อนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศยกเว้นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (utility token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง utility token ด้วยกันที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่างเหรียญในเกมส์ หรือ แต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. นี้

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้ได้พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้จากของจริงไปด้วยกันระหว่างทางการและภาคธุรกิจ

ปัจจุบันมีผู้สนใจติดต่อขอเป็นตัวกลางไอซีโอพอร์ทัลและตัวกลางซื้อขายแลกเปลี่ยนจำนวนมากกว่า 10 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ประกอบธุรกิจตัวกลางเดิมอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องมีการขออนุญาตกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน หลังพ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ ส่วนผู้สนใจรายใหม่คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาราว 2-3 เดือน

โดยบริษัทที่ต้องการเป็นไอซีโอพอร์ทัล จะต้องมีทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 ล้านบาท และมีระบบที่สามารถทำงานได้ เนื่องจากจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านไอซีโอ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อคัดกรองก่อนขออนุญาตจากก.ล.ต. ซึ่งมีหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)

ส่วนบริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านไอซีโอจะต้องรายงานความคืบหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง และมีการเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุน ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์เดิมที่กำหนดไว้ ประกอบกับจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ก.ล.ต.กำหนด และติดต่อผ่าน ไอซีโอพอร์ทัล เมื่อดำเนินตามเกณฑ์ทั้งหมด จะต้องส่งให้ก.ล.ต.พิจารณาอีกครั้งเพื่ออนุมัติ โดยจะใช้ระยะเวลาราว 60 วันหลังยื่นเอกสารครบถ้วน ซึ่งคาดว่าจะเห็นผู้ออกไอซีโอ รายแรกช่วงปลายไตรมาส 3/61-4/61

นอกจากนี้ การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทหรือคริปโตเคอร์เรนซี ในรายชื่อดังประกาศกำหนดเท่านั้น ได้แก่ Bitcoin , Bitcoin Cash , Ethereum , Ethereum Classic , Litecoin, Ripple และ Stellar ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ ก.ล.ต.เห็นว่ามีสภาพคล่องและเป็นที่ยอมรับ แต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

นางทิพยสุดา กล่าวอีกว่า กฎเกณฑ์ที่ออกมาควบคุมไอซีโอ จะไม่มีผลย้อนหลังกับไอซีโอที่ได้ออกไปแล้ว แต่หากต้องการนำไอซีโอเข้าซื้อขายกับตัวกลางที่ ก.ล.ต.กำหนดจะต้องผ่านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งหากไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะไม่สามารถซื้อขายได้

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้มีการร่วมศึกษาไอซีโอกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอย่างต่อเนื่อง มองว่าหลังการออกเกณฑ์กำกับดูแลการออกไอซีโอ มีการประกาศใช้ ธปท.อาจให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับไอซีโอได้ จากปัจจุบันมีการประกาศห้ามธนาคารพาณิชย์ยุ่งเกี่ยว

https://www.youtube.com/watch?v=PHz-HERZ0mo&feature=youtu.be


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ