ThaiBMA คาด กนง.คงดอกเบี้ยตลอดปีนี้ก่อนเริ่มปรับขึ้นใน Q1/62 แนะรัฐ-เอกชนเร่งออกหุ้นกู้ช่วงต้นทุนต่ำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 3, 2018 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA กล่าวในงานสัมมนา "เตรียมปรับพอร์ตตราสารหนี้พร้อมรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น"ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังปรับตัวขึ้นค่อนข้างช้า โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ถึงกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1/62

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อสุทธิตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันราว 8,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก ณ วันที่ 13 มิ.ย.ที่มีมูลค่าเข้าซื้อสุทธิสูงถึง 40,000 ล้านบาท เป็นผลกระทบจากความกังวลสงความทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าค่าคงค้างสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยราว 8 แสนล้านบาท จากมูลค่าคงค้างทั้งตลาดรวม 12.07 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตามสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติยังถือว่าต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยต่างชาติถือตราสารหนี้ไทยคงค้างคิดเป็น 8% ของมูลค่าคงค้างรวม แต่ขณะที้อินโดนีเซียและมาเลเซียมีสัดส่วนถึง 40%

นายธาดา กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนหันมาออกหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น หลังเกิดปัญหาการผิดนัดชำระในตั๋วกู้เงินระยะสั้น(BE) ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61 มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงถึง 3 แสนล้านบาท จากทั้งปี 60 มีการออกหุ้นกู้ระยะยาว 817,600 ล้านบาท จึงคาดว่าทั้งปีน่าจะใกล้เคียงปีก่อนและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่หุ้นกู้ระยะสั้นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะที่ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลไทยถือว่าต่ำกว่าสหรัฐฯมาก ดังนั้นเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะใช้ช่วงนี้กู้เงินเพื่อนำมาลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนผู้ออกตราสารหนี้รายอื่นๆ ควรใช้โอกาสช่วงดอกเบี้ยต่ำระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพื่อคงต้นทุนดอกเบี้ยในระยะยาวไว้

ด้านทิศทางค่าเงินบาทคาดหวังว่าในเร็วๆนี้ค่าเงินบาทจะเริ่มทรงตัวได้และมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยจะไม่อ่อนค่าไปมากกว่านี้แล้ว เนื่องจากเชื่อว่าสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะหาทางออกได้ในทิศทางที่มีความสมเหตุสมผล ขณะเดียวกันไทยมีดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาตั้งแต่ปี 59 เปรียบเทียบเหมือนบริษัทที่มีกำไรสุทธิตลอดเวลา ดังนั้น มีโอกาสที่กระแสเงินทุนจะไหลกลับเข้าตราสารหนี้ไทยจำนวนมากในอนาคต เพราะมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดเกิดใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ