MBKET คงเป้า SET ปีนี้ 1,870 จุด แนะ Q3/61 ปรับลงเป็นโอกาสเข้าซื้อ เน้นกลุ่ม Domestic Play

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 4, 2018 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรพล วีระเมธีกุล นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (MBKET) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปีนี้ที่ 1,870 จุด และกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS) จะอยู่ที่ 110 บาท/หุ้น หรือเติบโต 10% บนคาดการณ์ P/E ที่ 17 เท่า โดยมองกำไรบริษัทจดทะเบียนยังเป็นขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน แบงก และค้าปลีก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถือว่ามีมาร์เก็ตแคปรวมกันถึง 76% ของมูลค่าตลาดของ SET

ทั้งนี้ SET ตั้งแต่ต้นปีปรับลงไปกว่า 7% จากปัจจัยกดดัน คือ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐที่เติบโตดีเกินคาด สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมุมมองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25%

นอกจากนั้น ความเสี่ยงต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงยุโรป ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น, สภาพคล่องส่วนเกินที่หดตัวลง ส่งผลให้ตลาดยอมรับการเทรดที่ระดับความเสี่ยงที่น้อยลง ทำให้ PE Ratio ของตลาดหุ้นต่างๆ ปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนกดดันกระแสเงินทุนไหลออก โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้วกว่า 1.7 แสนล้านบาท ส่งผลกดดันต่อค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/61 มองว่าเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเมื่อหุ้นปรับตัวลง โดยแนะนำให้เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic Play เป็นหลัก พร้อมให้กรอบแนวรับไว้ที่ 1,550 จุด และแนวต้านที่ 1,760 จุด

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันในไตรมาส 3/61 น่าจะน้อยกว่าไตรมาส 2/61 ซึ่งหลัก ๆ มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงิน (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีการปรับลดวงเงิน QE สู่ระดับ 1.5 หมื่นล้านยูโร และจะยุติมาตรการ QE ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 2 ครั้งคือในเดือน ก.ย.และเดือน ธ.ค.61 ซึ่งถือว่าตลาดฯ ตอบรับข่าว (Price in) ดังกล่าวไปแล้วค่อนข้างมากแล้ว น่าจะทำให้ปัจจัยลบต่างๆ เบาบางลง

ส่วนปัจจัยเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในวันที่ 6 ก.ค.นี้ที่สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีสินค้าจากจีน และจีนก็จะตอบโต้ด้วยเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐเช่นกัน จะมีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ เนื่องจากกยังไม่ทราบว่าจะเกิดความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยังแนะนักลงทุนให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ไปก่อน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะยืดเยื้อไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/61 สหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งกลางเทอม หากสงครามการค้ายืดเยื้อก็อาจจะส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้

"ปัจจัยทางด้านสงครามการค้า บริษัทฯ คาดว่าจะยืดเยื้อไปอีกไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 4/61 ทางฝั่งสหรัฐฯ จะครบวาระการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร หากสงครามยังยืดเยื้อต่อไปก็จะส่งผลต่อคะแนนความนิยมของพรรครีพับบลิกัน โดยในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ที่จะสหรัฐจะมีการประกาศรายละเอียดของสินค้าที่มีปรับขึ้นภาษี มองว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีสินค้าไอทีของจีน และภาษีรถยนต์ของยุโรป จะส่งผลกระทบให้ทางยุโรปมีมาตรการตอบโต้ โดยการขึ้นภาษีกับทางสหรัฐฯ จากเดิม อยู่ที่ 3,200 ล้านเหรียญฯ เป็น 290,000 ล้านเหรียญฯ ทันที ซึ่งคิดเป็น 20% ของการส่งออกของสหรัฐอเมริกา"นายสรพล กล่าว

นอากจากนั้น ยังต้องติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้น จากกระแสเงินทุนที่ยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่องกดดันให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง โดยประเมินว่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาที่ 33.40 บาท/ดอลลาร์ อีกทั้งให้ติดตามการปรับลดน้ำหนักหุ้นในตลาดเกิดใหม่ไปใช้คำนวณในดัชนี MSCI ลงมาเป็น 1.9% จากปัจจุบัน 2.2% ในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับตลาด A-Share ของจีน ซึ่งอาจกดดันเงินทุนยังไหลออกต่อเนื่อง

ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ นักกลยุทธ์การลงทุน MBKET กล่าวว่า ความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันการลงทุนอยู่ แต่อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ค่อยๆ มีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น ดังนั้น ธีมการลงทุนในช่วงไตรมาส 3/61 จะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ นำโดย กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง จากการเร่งตัวขึ้นของงานประมูลภาครัฐในครึ่งปีหลัง ได้แก่ STEC,CK

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ รับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และ Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไปนัก ได้แก่ BBL, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากขานรับ Real Demand ที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ได้แก่ SPALI, GOLD,LH และกลุ่มค้าปลีก อิงการฟื้นตัวของภาคการบริโภคในประเทศ ได้แก่ BJC, CPALL โดยหุ้นเด่นประจำไตรมาส 3/61 บริษัทฯ เลือก STEC,BBL,SPALI,BJC เป็น Top picks


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ