ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ "แบงก์ทิสโก้" วงเงินไม่เกิน 1 แสนลบ. ที่ "A/Stable" ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 25, 2018 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทิสโก้ที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารทิสโก้ วงเงินสูงสุดมูลค่าไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 5 ปี ภายใต้โครงการ Medium Term Notes Program (MTN) วงเงินสูงสุดมูลค่าไม่เกิน 100,000 ล้านบาทนี้ เป็นส่วนเพิ่มจากวงเงินที่มีมูลค่าสูงสุดเดิมไม่เกิน 70,000 ล้านบาท โดยอันดับเครดิตที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับในครั้งนี้แทนที่อันดับเครดิตที่ประกาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ตลอดจนฐานเงินทุนและรายได้ที่เข้มแข็งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินรับฝากที่มีขนาดเล็ก ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร

ธนาคารทิสโก้เป็นบริษัทย่อยหลักของ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 99.99% ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 8 จากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.1% และเงินรับฝาก 1.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยจาก ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) ในปี 2560 จะส่งเสริมธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคาร ซึ่งธนาคารได้ฐานลูกค้าจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อที่ใช้บ้านเป็นหลักประกัน และฐานลูกค้าเงินฝาก รวมถึงได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการบริหารความมั่งคั่งของกลุ่มให้แก่ฐานลูกค้าใหม่ สิ่งนี้ได้ช่วยลดการพึ่งพาการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารมาอยู่ที่ระดับ 54.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 จากระดับ 60.7% ในปีก่อน สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 8.1% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในปีก่อน ธนาคารยังมุ่งเน้นการใช้ความชำนาญในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อค้ำประกันทะเบียนรถยนต์ด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารทิสโก้จะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งไว้ได้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel-III อยู่ที่ระดับ 16.60% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย และคิดเป็นสัดส่วน 77% ของเงินกองทุนรวม ในมุมมองของทริสเรทติ้ง สถานะเงินทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 50-60%

ความสามารถในการหารายได้ของธนาคารทิสโก้มีอยู่อย่างเพียงพอที่จะรองรับสภาวะความผันผวนตามวัฏจักรธุรกิจได้ ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารถือว่าสูงกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยซึ่งปรับเป็นตัวเลขเต็มปีที่ระดับ 1.73% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 (Q1/2561) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับ 1.36%

สัดส่วนรายได้ที่เป็นค่าธรรมเนียมและบริการซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของผลประกอบการอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและเงินปันผลคิดเป็น 71% ของรายได้รวมใน Q1/2561 รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีสัดส่วน 21% ของรายได้รวม และอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตที่ระดับ 0.80% ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.52% ในช่วง Q1/2561

ทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนทางเครดิตของธนาคารจะลดต่ำลงสู่ระดับปกติที่ค่าเฉลี่ย 1.0%-1.1% ในช่วงปี 2561-2563 จากระดับสูงสุดที่ 2.0% ในปี 2558 เนื่องจากความเสี่ยงจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่งในอุตสาหกรรมเหล็ก ต้นทุนทางเครดิตเมื่อปรับเป็นตัวเลขเต็มปีของธนาคารลดลงเหลือ 1.4% ในช่วง Q1/2561 และ 1.2% ในปี 2560 ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับปกติเนื่องจากสินเชื่อที่รับโอนมาจาก SCBT ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารทิสโก้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 2.9% ในปี 2558 สู่ระดับ 2.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับ 3.8% อัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 212% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 จากจุดต่ำสุดที่ระดับ 81% ณ สิ้นปี 2558

อันดับเครดิตของธนาคารทิสโก้ยังคงถูกจำกัดโดยสถานะของแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นลักษณะของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็ก ที่มีสัดส่วนของฐานเงินฝากรายย่อยที่ค่อนข้างเล็กในขณะที่มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในระดับสูง สัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 72% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 86% สัดส่วนเงินฝากรายย่อยประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account Savings Account – CASA) ต่อเงินฝากที่ระดับ 31% ในช่วงเวลาเดียวกันก็อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับประมาณ 60% อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงสู่ระดับ 134.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 จากระดับ 138.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับประมาณ 100%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจลูกค้ารายย่อย และมีฐานเงินทุนและสถานะด้านรายได้ที่มีความแข็งแกร่ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง รวมถึงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่ถดถอยลงอย่างรุนแรง ในขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารทิสโก้ในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน รวมถึงขยายพอร์ตสินเชื่อให้หลากหลายมากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการระดมเงินจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ