(เพิ่มเติม) GGC-KTIS จับมือ Chempolis ฟินแลนด์นำ Cellulosic Technology สร้างมูลค่าเพิ่มชานอ้อยเหลือใช้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 22, 2018 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) และ Chempolis Limited ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ Cellulosic Technology มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากชานอ้อยเพื่อต่อยอดโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhon Sawan Biocomplex :NBC) ในระยะที่ 2

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าวว่า ตามที่ GGC และ KTIS ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อต้นปี 61 เพื่อศึกษาและวางแผนก่อสร้างโครงการ NBC ซึ่งแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่งเป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระยะที่สอง มูลค่าโครงการจากการประเมินราว 7,650 ล้านบาท ต่อด้วยโครงการระยะที่สองประกอบด้วย โรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว 10,000-30,000 ล้านบาท

และในระยะที่สองนี้ GGC และ KTIS มีแนวทางในการนำชานอ้อย ซึ่งเป็น Biomass มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม กอปรกับพบว่า Chempolis เป็นผู้พัฒนา Cellulosic Technology ของตนเอง และสามารถนำชานอ้อยมาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสารมูลค่าสูง อาทิ Furfural Acetic Acid และ Lignin จึงสนใจในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาไปสู่โครงการในอนาคต และเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในวันนี้

ความคาดหวังของบริษัทฯ ต่อผลลัพธ์ในระยะยาว (5-10 ปี) จากการลงทุนก่อสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่นำร่องจังหวัดนครสวรรค์ คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นจากอัตราการจ้างงาน เกิดการจ้างงาน Knowledge workers / High-tech labor ในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพหลายหลายตำแหน่ง ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579) การพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และท้ายที่สุด คือ ช่วยส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพด้วย

การลงทุนก่อสร้าง NBC ของ GGC เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพหรือBioeconomy เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New S-Curve) โดยได้เริ่มต้นผลักดันการลงทุนสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งแต่เดือน ม.ค.60 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อขยายผล Bioeconomy ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางนั้น

อนึ่ง GGC ในฐานะ Green Flagship ของกลุ่ม บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทย มีความพร้อมเต็มที่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้พืชเศรษฐกิจของประเทศ คือ ปาล์มและอ้อย ผ่านการลงทุนกว่า 14,000 ล้านบาท เพื่อนำร่องพัฒนาพื้นที่ EEC (โรงงานผลิตเมทิสเอสเทอร์แห่งที่ 2 ซึ่งจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ปลายเดือน ส.ค.61 นี้) และภาคเหนือตอนล่าง (โครงการ NBC) อย่างเร่งด่วน

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเพื่อส่งเสริมการลงทุนไบโอชีวภาพ ด้วยการจะแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถสร้างโรงงานหีบอ้อยใกล้เคียงโรงงานเดิมภายในรัศมี 50 กิโลเมตรได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของโรงงานเดิมในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งวัตถุดิบอ้อยระหว่างกัน รวมถึงจะให้นำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นสินค้าอื่นอย่างเอทานอลได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย ตลอดจนจะให้มีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ก็จะทำให้โครงการ NBC ระยะที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากขึ้น โดยปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการเข้ามาเจรจาร่วมลงทุนมากขึ้น โดยการลงทุน NBC ทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40,000-50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ดังกล่าว ยังต้องรอการประกาศที่ชัดเจนออกมาก่อนด้วย

สำหรับโครงการ NBC ระยะแรกจะอยู่ภายใต้โครงการชบา โดยจะโรงงานหีบอ้อย กำลังการผลิต 2.4 ล้านตันอ้อย/ปี ,โรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ (MW) และโรงงานเอทานอล 6 แสนลิตร/วัน เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเกษตรกร ที่ปัจจุบันมีปริมาณอ้อยเข้ามาจำนวนมาก แต่ต้องใช้ระยะเวลานานในการหีบอ้อยแล้วเสร็จ บางช่วงที่ฤดูหีบอ้อยซึ่งปกติเริ่มขึ้นประมาณเดือน พ.ย.ใช้เวลายาวนานถึงเดือน เม.ย.-พ.ค.แต่หากมีโครงการเกิดขึ้นก็จะทำให้สามารถหีบอ้อยได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ