(เพิ่มเติม) "กรณ์"จะยื่นร้องเรียนภาครัฐกรณีกลุ่ม PTT เข้าซื้อหุ้น GLOW 10 ก.ย.นี้ ,PTT ลุ้นกกพ.อนุมัติเข้าซื้อกิจการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 6, 2018 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว"Korn Chatikavanij" เมื่อวานนี้ (5 ก.ย.) ว่า ภายหลังการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้บริหารบมจ.ปตท. (PTT) เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ต่อกรณีแผนการเข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าของบมจ.โกลว์ พลังงาน ( GLOW) และในส่วนของธุรกิจค้ากาแฟอเมซอน แม้ว่าจะมีเข้าใจมากขึ้น แต่ยังมีความเห็นต่างในหลายประเด็น โดยจะยังเดินหน้ายื่นคัดค้านการซื้อหุ้น GLOW ต่อนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พร้อมกับยื่นร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 10 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ การหารือกับปตท.เรื่องประเด็นการซื้อกิจการ GLOW ทางปตท.ได้พูดถึงจุดเริ่มแรกการทำธุรกิจไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการของปตท. เอง และเมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ GLOW เสนอขายก็ได้พิจารณาตามเงื่อนไขธุรกิจทั่วไป โดยปตท. มองว่าการควบรวมกับ GLOW มีประโยชน์กับกิจการที่มีอยู่เดิม และจะทำให้บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. ที่จะเป็นผู้ซื้อหุ้น GLOW นั้นกลายเป็นผู้ผลิตใหญ่อันดับที่สามในประเทศ และปตท. อธิบายว่าจะไม่มีผลกระทบกับลูกค้าปัจจุบันของ GLOW และการซื้อก๊าซฯก็ต้องซื้อในเงื่อนไขเดียวกันกับผู้ผลิตรายอื่น

ขณะที่ตนได้อธิบายว่า แม้ปตท. เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ต้องไม่ลืมว่าปตท. มีสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต่างจากบริษัทอื่น ๆ เนื่องจากปตท. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ปตท. ต้องระมัดระวังไม่ใช้ฐานความเข้มแข็งจากความเป็นรัฐ ในการข้ามไปแข่งในธุรกิจของผู้อื่น และคงไม่มีปัญหา หากปตท.เพียงผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือจำกัดการเปิดร้านกาแฟในปั้มน้ำมัน แต่ปัญหาเกิดจากการขยับขยายออกมาแข่งกับชาวบ้าน ซึ่งในกรณีการผลิตไฟฟ้านั้นยิ่งมีความชัดเจน เพราะบริษัทผลิตไฟฟ้าทุกบริษัทเป็น"ลูกค้า"ของปตท.

พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าหากบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ตัดสินใจลงทุนทำสายการบินของตนเอง ก็คงมองว่านั่นจะเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับสายการบินอื่นที่ล้วนเป็นลูกค้าเดิมของ AOT และเป็นการทำในสิ่งที่ไม่ใช่พันธกิจขององค์กร

"ผมมองว่าในยุคที่สังคมมีความกังวลกับอิทธิพลทุนใหญ่ และในยุคที่บทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจของเรามีมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐจึงยิ่งต้องระมัดระวังไม่ให้หน่วยงานของรัฐมีข้อครหาว่าเป็นผู้เอาเปรียบภาคเอกชนเสียเอง และหากการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าลดลง ผู้เสียเปรียบสุดท้ายก็คือประชาชนผู้ใช้ไฟ นอกจากนั้นเรายังมี กฟผ. ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้ว และกฟผ. ก็มาถูกทางแล้วในการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามารับภาระการลงทุนแทนรัฐ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะมีอีกรัฐวิสาหกิจหนึ่งมาซื้อหุ้นเอกชนกลับไป"นายกรณ์ ระบุ

นายกรณ์ ระบุอีกว่า เงินทุนที่ใช้ในการซื้อ GLOW กึ่งหนึ่งก็เป็นของประชาชน ดังนั้น ปตท. ควรที่จะใช้ทุนนี้ในทางที่สร้างสรรค์กว่า โดยนำไปสร้างของใหม่ที่จะเป็นการเสริมเติมต่อระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะมาซื้อของเก่าที่ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นทางกฎหมายรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นการยืนยันว่ารัฐควรต้องทำตามภารกิจของตนเท่านั้น ไม่ควรไปทำธุรกิจแข่งกับเอกชนโดยไม่จำเป็น

ส่วนเรื่องร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ทางปตท. ตกลงที่จะกลับไปคิดหาคำตอบในข้อเสนอ และในประเด็นที่ทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) มีความกังวล ได้แก่ 1. ปตท. จะพิจารณาว่าจะส่งเสริมผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่อเมซอนอย่างไร โดยเฉพาะรายย่อย (ทุน/อุปกรณ์/พื้นที่การขาย) เพราะนั่นคือบทบาทการส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟที่แท้จริงของรัฐ

2. ปตท. จะพิจารณาว่าจะเปิดพื้นที่ปั้มน้ำมันให้ผู้อื่นแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร (ปัจจุบันถึงแม้มีเจ้าอื่นขายกาแฟในปั้มปตท.อยู่บ้างแต่ปตท.ก็กำหนดเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดในการแข่งขันเช่นจำกัดสิทธิการโฆษณาหรือแม้แต่ประเภทขนมที่ขายได้)

3. ปตท. จะพิจารณานโยบายว่าจะจำกัดจำนวนสาขาอย่างไร เพราะมีประสบการณ์จากร้านสะดวกซื้อแล้วว่าหากปล่อยให้ขยายได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ได้ส่งผลอย่างไรกับกิจการโชว์ห่วยของชาวบ้าน

4. ปตท. จะหาแนวทางที่จะส่งเสริมเกษตรกรที่ประสงค์จะเปลี่ยนมาปลูกกาแฟ (ยกตัวอย่างเช่นชาวสวนยางในภาคใต้ หรือสวนลำไยในภาคเหนือ)

5. ปตท.จะหาแนวทางช่วยชาวไร่กาแฟไทยเพื่อเพิ่มโอกาสให้ชาวไร่สามารถขายเมล็ดกาแฟให้ปตท.ได้มากขึ้น (ปัจจุบันเป็นน่าจะมีการซื้อเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านคนกลางในปริมาณที่มากอยู่)

6. ตนยังเห็นคุณค่าของแบรนด์ ‘อเมซอน’ ที่ปตท. สร้างขึ้นมา เพียงแต่คิดว่าเอกชนรายอื่นไม่ควรต้องมาแข่งกับรัฐ แม้ปตท.บอกว่าเขาจะขายหุ้นบางส่วนในตลาดหลักทรัพย์ แต่นั่นยิ่งเป็นการเพิ่มความได้เปรียบในแง่กำลังทุน และปตท.ก็ยังจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดอยู่ดี

ทั้งนี้ ได้แสดงความเห็นกับปตท. ว่าปัญหาทั้งหมดจะหมดไปหากปตท.แปรให้กิจการอเมซอนเป็นของเอกชนทั้งหมด (ยกตัวอย่างคือขายให้กับผู้บริหารและเจ้าของ franchise ปัจจุบัน รวมไปถึงประชาชนทั่วไป แต่อย่าขายให้ทุนใหญ่) เพื่อให้เอกชนไทยเจ้าอื่นสามารถแข่งขันกับอเมซอนอย่างเป็นธรรมได้มากขึ้น และจะทำให้กิจการกาแฟไม่ขัดรัฐธรรมนูญที่ห้ามรัฐแข่งกับเอกชน ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะช่วยให้ปตท. มีบทบาทที่สร้างสรรค์และเป็นที่ชื่นชมของประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น

"ข้อสรุปจากวันนี้คือ เราเข้าใจกันมากขึ้น แต่ยังเห็นต่างในหลายประเด็น ผมจึงจะเดินหน้ายื่นคัดค้านการซื้อหุ้น GLOW โดย ปตท. และจะรอฟังความชัดเจนในประเด็นที่เรียบเรียงไว้ 6 ข้อ ในกรณีธุรกิจกาแฟ เนื่องจากส่วนหนึ่งของปัญหาเป็นประเด็นทั้งทางนโยบายและทางกฎหมาย ผมจึงจะยื่นร้องเรียนการซื้อหุ้น GLOW ต่อท่านนายกฯและท่านรัฐมนตรีพลังงาน พร้อมกับยื่นร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมดนี้จะดำเนินการในวันจันทร์ที่ 10 กันยายนนี้"นายกรณ์ ระบุ

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวว่า ปตท.พร้อมที่จะรับความฟังความเห็นต่าง หากเป็นความเห็นที่ดีก็พร้อมที่จะนำมาปรับปรุง และหากเป็นสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องก็เดินต่อไป โดยกรณีการเข้าซื้อกิจการ GLOW เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุมัติให้ GPSC ซื้อ GLOW ได้หรือไม่ ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องอำนาจเหนือตลาด ซึ่งปตท.ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างมืออาชีพมานาน 20 ปี ขณะที่การลงทุนร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ส่วนใหญ่ราว 90% มาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

"ปตท. ดำเนินการอย่างมืออาชีพ ไม่ได้ทำร้ายรายย่อย เนื่องจากธุรกิจของ ปตท. มีเอสเอ็มอีทั้งน้ำมันและค้าปลีก คิดเป็นประมาณ 80-90%"นายชาญศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ