(เพิ่มเติม) "กรณ์"เดินสายยื่นหนังสือกกพ.คัดค้านกลุ่ม PTT ซื้อกิจการ GLOW , กกพ.ยันพิจารณาตามขอบเขตอำนาจกม.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 12, 2018 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อคัดค้านการที่กลุ่ม บมจ.ปตท.(PTT) จะเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) โดยเห็นว่า กกพ.จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีผลต่อการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 75 ที่ห้ามภาครัฐทำธุรกิจแข่งกันเอกชน ยกเว้นว่าสามารถดำเนินการได้กรณีจำเป็น และจะเดินทางไปยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นข้อท้วงติงกรณีขัดรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องพิจารณาต่อไป

"การที่จะซื้อหุ้น GLOW เพื่อที่จะทำธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นการแข่งขันกับเอกชนอย่างปฎิเสธไม่ได้ เราจึงมองว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และจะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบในประเด็นนี้ต่อในวันนี้"นายกรณ์ กล่าวภายหลังการยื่นข้อร้องเรียนต่อกกพ.ในเช้าวันนี้

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่ได้หารือกับนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกกพ. คือเงื่อนไขสำคัญการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากกกกพ. ซึ่งหากกกพ.อนุมัติก็จะทำให้บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท.ที่จะเป็นคนเข้าซื้อ GLOW จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้กับกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินจำนวนนี้ถูกดึงออกนอกประเทศ หากภายหลังมีการโอนเงินไปแล้ว แต่มีการตีความว่าเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น กกพ.ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่งมีกำหนดการพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ก.ย. และสามารถขยายเวลาได้อีก 15 วัน

นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการซื้อกิจการ GLOW จะทำให้เกิดการผูกขาดการขายไฟฟ้าในพื้นที่มาบตาพุด นอกเหนือจากการผูกขาดในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของปตท. ทำให้กลุ่มลูกค้าของ GLOW นับ 10 รายมีความกังวลเรื่องการซื้อไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจจะไม่เป็นธรรม และได้ยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวมาที่กกพ.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า การที่ปตท.มีแผนจะขยายธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนภายใต้ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปตท.นั้น นับว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ห้ามแข่งขันกับภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้เห็นว่าปตท.ควรขายธุรกิจอเมซอนออกมาให้กับเอกชน โดยไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ. ซึ่งอาจจะเป็นการขายให้กับอดีตผู้บริหารปตท. หรือขายให้กับกลุ่มแฟรนไชส์ หรือประชาชนทั่วไป

"PTTOR จะกระจายหุ้นหรือไม่ เป็นสิทธิของเขา สำหรับผมมองว่าวิธีการแก้ปัญหาคือกลางแปลงอเมซอนเป็นเอกชนล้วนๆ อย่างน้อยให้การแข่งขันเกิดขึ้นระหว่างเอกชนกันเอง ไม่ใช่รัฐแข่งกับเอกชน แล้วทำให้เกิดการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ"นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอดูการปรับกลยุทธ์ธุรกิจอเมซอนของปตท.หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกันก่อนหน้านี้ ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ที่ได้มายื่นข้องเรียกร้องกรณีกิจการไฟฟ้าก่อนนั้นเนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลังจากมีผู้มายื่นข้อเรียกร้องต่อกรณีการที่กลุ่ม ปตท.จะเข้าซื้อกิจการ GLOW โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ก็จะยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วันหลังจากได้รับหนังสือเพื่อให้พิจารณาจาก GPSC เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่การพิจารณาของกกพ.จะอยู่ในขอบเขตตามข้อกฎหมายว่าด้วยการแข่งขัน และจะนำข้อกังวลเรื่องการดำเนินการขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาพิจารณาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีผู้มานำเสนอข้อมูลให้กับทางกกพ.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงลูกค้าของ GLOW ในพื้นที่มาบตาพุด และล่าสุดที่นายกรณ์ ที่ได้เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ด้วย

"ใครมีประเด็นอะไรก็จะนำเข้ามาประกอบด้วย อะไรที่อยู่ในอำนาจที่เราพิจารณาเราก็จะพิจารณา กรณีขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่เรายังตอบไม่ได้ เพราะบอร์ดยังไม่ได้คุย แต่ตามกฎหมายที่กกพ.มีคือมาตรา 7 และมาตรา 60 ตอนนี้เราพิจารณาไประดับหนึ่งแล้ว แล้วก็ให้คนไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้มีการตีความว่าประเด็นนี้เป็นการผูกขาดหรือไม่ เพราะมีคนมานำเสนอข้อมูลต่อเนื่อง...เราดูหมดในภาพรวม ในเชิงพื้นฐาน ณ วันนี้ยังตอบไม่ได้เลยว่าผิดรัฐธรรมนูญไหม ผูกขาดไหม บอร์ดยังไม่ได้พิจารณา"นายวีระพล กล่าว

สำหรับมาตรา 7 กำหนดให้ กกพ.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงาน และผู้รับใบอนุญาต รวมถึงส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน และมาตรา 60 ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการกระทำการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตประธานกรรมการ ปตท.กล่าวในรายการโทรทัศน์เมื่อช่วงเช้า โดยคาดว่ารัฐบาลจะไม่สั่งให้ปตท.ยุติดีลการซื้อกิจการของ GLOW ในครั้งนี้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซฯ ก็ควรจะต้องให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจไฟฟ้าด้วยเช่นกัน และหวังว่ากกพ.จะพิจารณากรณีการซื้อกิจการครั้งนี้เฉพาะในขอบเขตกฎหมายที่มีอยู่คือเรื่องการผูกขาดของกิจการเท่านั้น

"ตามนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในเรื่องของก๊าซฯ ต้องยอมรับว่าธุรกิจของ ปตท.จะต้องเปลี่ยนไป รูปแบบโครงสร้างการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะต้องเปลี่ยนไปด้วย อย่ามาบอกว่าก๊าซฯเปิดเสรีทุกคนเข้ามาแข่งได้ แต่ปตท.เข้าไปทำธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้ ก็ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะห้าม GPSC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และในการพิจารณาของ กกพ.หวังว่าจะพิจารณาตามขอบข้อกฎหมายของท่าน เพราะการพิจารณาของท่านจะเป็นประเด็นเรื่องการผูกขาดเท่านั้น ไม่มีประเด็นอื่นที่จะมาพิจารณา

และพูดถึงจริงๆ การผลิตไฟฟ้าผูกขาดอยู่แล้ว ผูกขาดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่ใช่ผูกขาดโดย ปตท.ถ้าต้องการให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างแท้จริง ต้องเปิดให้มีการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าด้วย ซึ่งการเปิดให้แข่งขันในกิจการก๊าซฯอย่างเดียว ไม่เปิดให้แข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าไม่พอ"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ