(เพิ่มเติม1) ศาลปกครองกลางสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กสทช.โดยให้คุ้มครองผู้ใช้บริการ DTAC ชั่วคราวถึง 15 ธ.ค.61

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 14, 2018 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกรณี บมจ.โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ฟ้องขอเพิกถอนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 และคำสั่งของ กสทช. ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เฉพาะในส่วนที่กำหนดเงื่อนไขไม่ให้ผู้ไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 โดย DTAC ได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว

ศาลปกครองกลาง วินิจฉัยว่า ประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวฯ มีความมุ่งหมายประการสำคัญที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด อันเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้ผู้รับสัมปทานเดิมมีหน้าที่ให้บริการต่อไปได้เป็นการชั่วคราว กสทช.จึงไม่อาจอ้างกรณีที่ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่มาใช้เป็นเหตุผลที่จะไม่ให้ DTAC เข้าสู่มาตรการคุ้มครองตามประกาศดังกล่าว มติของ กสทช.จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งถึงแม้ผู้ใช้บริการที่ยังไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายได้จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่ก็ต้องฟังว่า ผู้ใช้บริการดังกล่าวอาจเป็นผู้เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ที่ต้องติดต่อสื่อสารกรณีเร่งด่วน หรืออยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งคลื่น 850 MHz สามารถใช้ได้ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หาก DTAC ไม่สามารถให้บริการได้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กสทช.จะมีผลให้ DTAC สามารถให้บริการในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดสัมปทานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้ กสทช.ประมูลคลื่นความถี่ใหม่ และ DTAC มีหน้าที่ชำระค่าใช้คลื่นความถี่ในช่วงเวลาดังกล่าว การทุเลาการบังคับตามมติ กสทช.จึงไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะ จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับได้ และเห็นว่าผู้ใช้บริการที่ยังไม่สามารถโอนย้ายได้มีประมาณ 90,000 ราย จึงควรกำหนดระยะเวลาทุเลาการบังคับตามมติของ กสทช. ไว้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กสทช.ในการประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ที่กำหนดเงื่อนไขว่า หาก DTAC ไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็จะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 โดยให้ DTAC ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศดังกล่าว จึงให้ทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561 เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ให้ DTAC ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ดังนั้น ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ DTAC บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ตามคำสั่งศาลฯ

ด้านนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ DTAC กล่าวว่า คำสั่งศาลฯเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน ดีแทคจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ยังเป็นซิมเดิมในระบบสัมปทานกับบมจ.กสท. โทรคมนาคม (กสท.) โอนย้ายระบบต่อไป

ที่ผ่านมา ดีแทค และกสท.ได้ร่วมมือกันยื่นแผนความคุ้มครองลูกค้าในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อ กสทช. ในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตามประกาศ กสทช. ที่จะต้องให้ลูกค้าเข้าสู่มาตรการเยียวยาตามกฎหมายเพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบการใช้งานช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน โดยที่ผ่านมา กสทช. ได้มีมติไม่ให้ลูกค้าดีแทคเข้าสู่มาตการเยียวยา ดีแทคจึงต้องยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งกสทช. ต่อศาลปกครองกลาง ในวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่นมา ทั้งนี้ การใช้งานคลื่นในระหว่างการเข้าสู่มาตรการเยียวยานั้น ดีแทคจะนำรายได้ให้รัฐตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ