ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่เกิน 4 พันลบ.ของ TPIPP ที่ระดับ "BBB+" แนวโน้ม "คงที่"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 17, 2018 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงที่บริษัทได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements – PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง ตลอดจนการมีอัตรากำไรที่สูงจากส่วนเพิ่มของราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) การมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่สามารถแข่งขันได้ทั้งจาก RDF และความร้อนทิ้ง รวมไปถึงการมีงบการเงินที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากการมีความเสี่ยงด้านปฏิบัติการที่ค่อนข้างสูงของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และความเสี่ยงจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะเครดิตสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับบริษัทแม่

บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) (ได้รับอันดับเครดิต "BBB+/Stable") เมื่อพิจารณาถึงสถานะของบริษัทโดยไม่รวมบริษัทแม่แล้ว (Stand-alone Basis) บริษัทจะได้รับอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ "A" ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ซึ่งอยู่ที่ระดับ "BBB+" ตามระเบียบวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่มของทริสเรทติ้ง

อันดับเครดิตที่มีกรอบอยู่ภายใต้อันดับเครดิตของบริษัทแม่นั้นสะท้อนถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนของทั้ง 2 บริษัทเนื่องจากบริษัทแม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 70.24% นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังมีส่วนร่วมในคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของบริษัทซึ่งบ่งบอกถึงอำนาจในการควบคุมที่มีนัยสำคัญต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอีกด้วย

ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญต่อกลุ่มเนื่องจากบริษัทสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70%-80% ให้แก่กลุ่ม อีกทั้งยังเป็นธุรกิจหลักที่ช่วยสนับสนุนสถานะเครดิตของกลุ่มอีกด้วย

การพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทยังคำนึงถึงระดับของการประสานงานที่มีนัยสำคัญระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ด้วย ทั้งนี้ การพึ่งพากันในเชิงธุรกิจนี้ทำให้บริษัทมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานและส่งผลให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงทั้งในด้านสถานะเครดิตของบริษัทแม่และความผันผวนของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ นอกจาก กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัท บริษัททีพีไอ โพลีน ก็เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าอีกรายหนึ่งและเป็นผู้จำหน่ายพลังงานความร้อนทิ้งแต่เพียงรายเดียวของบริษัทด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของการดำเนินงาน เช่น กำลังการผลิตที่ลดลงหรือการหยุดเดินเครื่องโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ก็จะส่งผลทำให้ความต้องการไฟฟ้าและปริมาณความร้อนทิ้งจากบริษัทแม่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัทบางส่วนด้วย

กระแสเงินสดที่มั่นคงและอัตรากำไรที่สูง

กระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทเป็นผลจากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยเงื่อนไขภายในสัญญานั้นช่วยบรรเทาความเสี่ยงในด้านอุปสงค์ กล่าวคือ ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาบริษัทจะได้รับรายได้อย่างต่อเนื่องตราบเท่าที่โรงไฟฟ้าของบริษัทยังสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ นอกจากนี้ ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ระบุไว้ในสัญญายังให้ส่วนเพิ่มจากราคารับซื้อไฟฟ้าอีก 3.50 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 7 ปีซึ่งช่วยยกระดับอัตรากำไรของบริษัทให้สูงอีกด้วย

ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สามารถแข่งขันได้จากเชื้อเพลิง RDF และความร้อนทิ้ง

ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกทั้งจาก RDF และความร้อนทิ้งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความแข็งแกร่งของบริษัท ทั้งนี้ ต้นทุนเชื้อเพลิง RDF นั้นค่อนข้างต่ำเนื่องจากบริษัทสามารถผลิตได้จากขยะฝังกลบและขยะชุมชน โดยขยะชุมชุนส่วนใหญ่ที่บริษัทจัดหาได้นั้นไม่มีต้นทุน ในขณะที่ความร้อนทิ้งนั้นถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเฉพาะตัวของบริษัทเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใกล้กับโรงปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ซึ่งมีความร้อนทิ้งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ โดยตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. นั้น บริษัทได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ความร้อนทิ้งมาช่วยเสริมในการผลิตไฟฟ้าได้ในสัดส่วนสูงสุดที่ 25% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ได้ จึงส่งผลให้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากความร้อนทิ้งของบริษัทมีอัตรากำไรที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ปริมาณพลังความร้อนทิ้งนั้นมีไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับสภาวะการผลิตของโรงงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่

ความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง

ข้อได้เปรียบของบริษัทลดทอนลงไปด้วยความยากในการปฏิบัติงานโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง RDF เนื่องจากโรงไฟฟ้าประเภทนี้มีความซับซ้อนมากกว่าโรงไฟฟ้าประเภทที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซหรือถ่านหินโดยทั่วไป เนื่องจากคุณภาพและค่าความร้อนของเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะนั้นมีความเสถียรต่ำ คุณภาพของขยะที่นำมาใช้ทำเชื้อเพลิง RDF มีความหลากหลายแตกต่างกันสูง ดังนั้น ความสามารถของบริษัทในการควบคุม และคัดแยกสิ่งปนเปื้อนของขยะจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดคุณภาพของเชื้อเพลิงที่ใช้

ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการใช้เชื้อเพลิง RDF จะก่อให้เกิดความท้าทายในการปฏิบัติงานมากกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีความเสถียรสูงกว่า ซึ่งส่งผลทำให้มีโอกาสที่โรงไฟฟ้าจะหยุดเดินเครื่องบ่อยครั้งและนานกว่า ดังนั้น เราจึงคาดว่าบริษัทน่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ สำหรับการซ่อมบำรุงรักษาหรือปรับปรุงโรงงานเพื่อให้การดำเนินงานมีความราบรื่นสม่ำเสมอยิ่งขึ้น คาดว่าการดำเนินงานจะเต็มกำลังตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

EBITDA ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ EBITDA เติบโตที่ระดับ 3,090 ล้านบาทในปี 2560 จาก 2,400 ล้านบาทในปี 2559 หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 31.1% ในขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 นั้น EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 2,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 24.9% โดยประมาณ ทั้งนี้ การที่บริษัทได้รับค่าไฟฟ้าที่มีส่วนเพิ่มจึงทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) อยู่สูงเกินกว่า 50% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปเมื่อเทียบกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น ๆ

ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 440 เมกะวัตต์ในปี 2562 จาก 290 เมกะวัตต์ในปี 2561 หลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายซึ่งมีกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์เริ่มเปิดดำเนินการ สำหรับในช่วงระหว่างปี 2562-2564 นั้นทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA จะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 6,500 ล้านบาทต่อปีและคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 50%-60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

งบการเงินที่แข็งแรง ณ ปัจจุบัน บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแรงจากการมีกระแสเงินสดที่มากขึ้นและการไม่มีหนี้เงินกู้ งบการเงินของบริษัทปลอดภาระหนี้เงินกู้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่บริษัทได้รับเงินจากการจำหน่ายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2560 จำนวน 17,100 ล้านบาทและได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับของหนี้เงินกู้ของบริษัทนั้นมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตแต่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเข้าร่วมในการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนในกรุงเทพฯ และจังหวัดนครราชสีมาโดยตั้งงบในเบื้องต้นไว้ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนดังกล่าวแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทน่าจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 20% ในช่วงการพัฒนาโครงการ

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์เป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัททีพีไอ โพลีน และหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทจะนำไปรวมกับงบการเงินบริษัทแม่ด้วย ดังนั้น การลงทุนที่ใช้หนี้เงินกู้จำนวนมากของบริษัทจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเข้มแข็งทางการเงินของบริษัทแม่ รวมถึงต่ออันดับเครดิตของกลุ่มด้วยเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงได้อย่างยาวนาน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัททีพีไอ โพลีน ต่อไปและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต ด้วยความสัมพันธ์แบบบริษัทแม่และบริษัทลูก การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะมีต่ออันดับเครดิตของบริษัทแม่นั้นก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นอย่างมากจนทำให้สถานะทางการเงินของกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอันดับเครดิตของบริษัทแม่ได้รับการปรับลดลง หรือในกรณีที่ผลการดำเนินการของบริษัทเองด้อยลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลให้กระแสเงินสดลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ