TIGER ใกล้สรุปราคา-วันเปิดจองหุ้น IPO หลังปิดท้ายโรดโชว์ คาดเข้าเทรด ต.ค.หนุนเพิ่มขีดความสามารถรับงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 3, 2018 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บมจ.บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ของบมจ.ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER) กล่าวว่า TIGER อยู่ระหว่างเตรียมกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO และเตรียมเปิดจองซื้อในเร็ว ๆ นี้ หลังจากวันนี้ได้สิ้นสุดการเดินสายให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (โร้ดโชว์) ที่กรุงเทพฯ เป็นแห่งสุดท้าย

ทั้งนี้ TIGER มีแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 122.28 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น ปัจจุบัน TIGER มีทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 460 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้ว 168.86 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 337.72 ล้านหุ้น

วัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและเพิ่มความสามารถในการรับงานให้กับบริษัท

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า TIGER มีกำหนดนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาด mai ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ เช่นเดียวกับ บมจ.โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC)

TIGER ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีการถือหุ้น 99.99% ในบริษัท ไทย อิงเกอร์ จำกัด (TEC )หรือ บริษัทแกน ซึ่งเป็นบริษัทแกน (Core Company) ประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาทุกประเภท รวมทั้งงานออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม (Construction Contractor – Build & Design)

นอกจากนี้ยังประกอบธุรกิจสนับสนุนงานรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ 1) ธุรกิจออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งอุปกรณ์จากกระจกและอลูมิเนียม สำหรับงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งดำเนินการโดย บริษัท ทีอีจี อลูมินั่ม จำกัด หรือ TEA และ 2) ธุรกิจออกแบบและผลิต พร้อมติดตั้งระบบน้ำดีและน้ำเสีย รวมทั้งจัดหาและจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างอื่นๆ ดำเนินการโดย บริษัท ทีอี แมค จำกัด หรือ TEM

นายจตุรงค์ ศรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TIGER เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทระดมทุนและเข้าซื้อขายในตลาด mai แล้ว จะทำให้มีความสามารถในการรับงานเพิ่มมากขึ้นจากช่วงก่อนเข้าตลาดที่รับงานได้สูงสุด 4-5 พันล้านบาท/ปี โดยในระยะยาวบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขีดความสามรารถในการรับงานให้เป็น 5-6 พันล้านบาท/ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรับงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆได้เพิ่มขึ้น

สำหรับงานของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท และคอนโดมิเนียม และปัจจุบันบริษัทยังมีการกระจายสัดส่วนงานไปที่โครงการแนวราบเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายพอร์ตงานให้มีความหลากหลาย

ขณะเดียวกัน ความสามารถในการรับงานที่เพิ่มขึ้นช่วยให้บริษัทเข้าไปรับงานโครงการภาครัฐที่มีปริมาณของงานที่เปิดประมูลออกมามากในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงของเดือน ต.ค.นี้ที่เป็นช่วงเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะเริ่มมีการทยอยเปิดการประมูลโครงการลงทุนภาครัฐต่างๆออกมามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานที่ได้ยื่นประมูลไปราว 4-6 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนงานของภาครัฐราว 70-80% โดยที่สัดส่วนรายได้ระหว่างงานภาครัฐและเอกชนในอนาคตจะทำให้เกิดความสมดุลกันที่ 50:50

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า การที่บริษัทสามารถปลดล็อกข้อจำกัดด้านการรับงานให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะรักษาการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่าช่วงก่อนเข้าตลาดที่เติบโตเฉลี่ย 30-35% ต่อปี และการเน้นรับงานที่ให้มาร์จิ้นสูง ขณะที่บริษัทจะมีงานด้านการออกแบบและงานด้านระบบที่ช่วยเสริมงานก่อสร้าง เพื่อช่วยสร้างมาร์จิ้นมากขึ้นและทำให้การรับงานสามารถทำงานได้ครบวงจรมากขึ้น และจะพยายามเพิ่มมูลค่างานในมือ (Backlog) เพื่อรองรับรายได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันบริษัทมี Backlog อยู่ที่ 600 ล้านบาทจะทยอยรับรู้รายได้ภายใน 3 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ