TASCO คาดปริมาณขายยางมะตอยปี 62 กลับมาปกติที่ 1.9-2 ล้านตันหลังหดตัวปีนี้ ,ราคาเป็นขาขึ้นตามน้ำมัน-ซัพพลายลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 9, 2018 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปริมาณขายยางมะตอยของบริษัทในปี 62 คาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติที่ 1.9-2 ล้านตัน จากในปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ราว 1.4 ล้านตัน ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา สาเหตุหลักจากรับมอบน้ำมันดิบป้อนเข้าโรงกลั่นยางมะตอยน้อยกว่าเป้าหมาย เนื่องมาจากปัญหาการเมืองในเวเนซุเอลาที่เป็นแหล่งป้อนน้ำมันดิบให้กับบริษัท แต่เชื่อว่าในปีหน้าจะกลับมารับมอบน้ำมันดิบตามแผนหลังการส่งมอบเริ่มเป็นปกติตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ทิศทางราคายางมะตอยจากนี้จะเป็นขาขึ้นตามราคาน้ำมัน และปริมาณยางมะตอยออกสู่ตลาดโลกลดลง หลังหลายโรงกลั่นน้ำมันหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ตามมาตรฐานองค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ (IMO) ที่จำกัดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% จากระดับ 3.5% ในปัจจุบัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ซึ่งจะทำให้น้ำมันเตา รวมถึงยางมะตอยที่ออกจากกระบวนการกลั่นน้ำมันลดลงด้วย ท่ามกลางความต้องการใช้ในภูมิภาคที่เติบโตปีละ 3-5%

"การรับน้ำมันดิบเข้ามาขณะนี้สถานการณ์เป็นปกติตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีนี้เราน่าจะได้มาประมาณ 9 ลำเรือทำให้มั่นใจว่าจะขายยางมะตอยไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านตัน จาก 6 เดือนทำได้ 6.6 แสนตัน ไตรมาส 3 ทำได้ 3 แสนเศษๆ รวมก็ประมาณเกือบ 1 ล้านตัน มั่นใจไตรมาส 4 จะมีตัวเลขไหลเข้ามาเยอะจาก crude ที่เข้ามา...ปี 62 ถ้าเราซื้อน้ำมันดิบได้ตามปกติ ยอดขายน่าจะกลับมาที่ 1.9-2 ล้านตันเหมือนเดิม ยอดขายเราอยู่ระดับนี้มาตลอดสม่ำเสมอค่อนข้างนิ่ง แต่ถ้าเรามีน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอตลอดเวลาก็มีโอกาสที่จะผลิตและขายได้มากกว่านี้ เพราะตลาดภูมิภาคโดยเฉลี่ยเติบโตปีละ 3-5% ไม่สูง แต่โตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ตลอด"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปริมาณขายยางมะตอยในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการรับมอบน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่โรงกลั่นยางมะตอย KBC ในเมืองเคมามาน รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซียของบริษัทไม่สม่ำเสมอ จากปกติที่จะรับมอบราว 1 ลำเรือ/เดือน แต่ครึ่งแรกของปีนี้รับมอบได้เพียง 3 ลำเรือเท่านั้นจากปัญหาในเวเนซุเอลา

แต่เมื่อบริษัทกลับมารับมอบน้ำมันดิบได้ตามปกติ โรงกลั่น KBC ก็เผชิญกับปัญหาไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันดิบเมื่อต้นเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามแผนพอดีก่อนจะกลับมาเดินเครื่องตามปกติช่วงปลายเดือน ก.ค.ทำให้เสียโอกาสการกลั่นยางมะตอยในช่วงนั้นไป ส่งผลต่อยอดขายในไตรมาส 3/61 ไม่ดีนัก ประกอบกับจะมีการบันทึกค่าเสียหายจากเหตุไฟไหม้ดังกล่าวราว 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีโอกาสที่ผลการดำเนินงานจะพลิกขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/61

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันเบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้รับเงินประกันคืนส่วนหนึ่งในช่วงปลายปีนี้ และอีกส่วนหนึ่งในต้นปีหน้า ขณะที่คำสั่งซื้อยางมะตอยที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องและการกลับมาเดินเครื่องโรงกลั่นเต็มที่ จากน้ำมันดิบที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.ที่จะมีน้ำมันดิบเข้ามา 2 ลำเรือชดเชยกับที่ขาดหายไปช่วงต้นปี ทำให้มั่นใจกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 4/61 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปีนี้ ท่ามกลางทิศทางราคายางมะตอยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยปัจจุบันราคายางมะตอยอยู่ที่ราว 440-450 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากกว่า 300 เหรียญสหรัฐ/ตันเมื่อช่วงต้นปีนี้ ขณะที่ราคาน้ำมันในขณะนี้ยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

สำหรับแนวทางแก้ไขการรับมอบน้ำมันดิบ ซึ่งปัจจุบันสั่งซื้อจากเวเนซุเอลาเกือบ 100% นั้น บริษัทก็เริ่มมองหาการนำเข้าจากแหล่งอื่นอีกว่า 10 แหล่งมาทดแทน แต่ก็มาเผชิญกับปัญหาไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันดิบ ทำให้การจัดเก็บน้ำมันดิบมีปริมาณจำกัด ส่งผลยังไม่มีการนำเข้าจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม ประกอบกับการนำเข้าจากแหล่งอื่นก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นและได้ผลผลิตยางมะตอยออกมาไม่มากเท่ากับปัจจุบัน โดยปัจจุบันบริษัทยังให้ความสำคัญกับการเจรจาต่อสัญญาระยะยาวเพื่อรับน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาออกไปจากปัจจุบันที่มีสัญญา 4 ปีและจะครบกำหนดในปี 63 ขณะที่บริษัทนับว่าเป็นคู่ค้าที่ดีกับเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศที่ยังคงต้องการส่งออกน้ำมันดิบในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ

TASCO ผู้ผลิตและจำหน่ายยางมะตอย มีส่วนแบ่งตลาดอับดับ 1 ในไทยราว 50% และมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในลาว,กัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย โดยมีการจัดตั้งคลังเก็บยางมะตอย,โรงงานผลิตยางมะตอย และตัวแทนจำหน่ายกระจายอยู่ใน 9 ประเทศอาเซียน ยกเว้นบูรไน

ขณะที่มีโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวในมาเลเซียที่มีกำลังผลิต 3 หมื่นบาร์เรล/วัน สามารถผลิตยางมะตอยได้ราว 75% หรือประมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี ส่วนที่เหลือจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เช่น แนฟทา ,Atmospheric Gas Oil (AGO) และ Vacuum Gas Oil (VGO)ราว 26% หรือประมาณ 3 แสนตัน/ปี โดยผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นจะจำหน่ายในต่างประเทศ ส่วนการจำหน่ายยางมะตอยในประเทศจะเป็นการซื้อยางมะตอย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเข้าสู่โรงงานผลิตยางมะตอยก่อนจำหน่ายให้ลูกค้า

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะขยายกำลังผลิตโรงกลั่นเป็นราว 6 หมื่นบาร์เรล/วัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าผลการศึกษาจะออกมาภายในเดือน พ.ย.นี้ ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่โรงกลั่นได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องด้วยหรือไม่ หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาภายในป็นี้ หากได้รับความเห็นชอบก็คาดว่าใช้ระยะเวลาดำเนินการราว 2 ปีครึ่งและมีผลิตภัณฑ์ออกมาในช่วงปี 64

"เรามีความตั้งใจที่จะขยายกำลังการผลิตแน่นอน ถ้าไม่ติดอะไร ปัจจัยสำคัญของการพิจารณาขั้นสุดท้ายว่าเราจะเดินหน้าหรือไม่ คือการซื้อ crude ได้อย่างสม่ำเสมอป้อนเข้าโรงกลั่นได้หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาน้ำมันดิบยังมีความไม่แน่นอนอยู่แล้วเราจะมาลงทุนมากขนาดนี้ เราก็คงจะไม่ลงทุน อย่างแรกต้องดูว่าการติดต่อหรือซื้อน้ำมันดิบจากเวเนฯเป็นอย่างไร และสถานการณ์เวเนฯเป็นอย่างไร สหรัฐฯจะ sanction เพิ่มเติมแล้วจะมีผลอย่างไรต่อการส่งออกน้ำมันของเวเนฯหรือไม่"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายกองเรือเดินทะเล ด้วยการซื้อเรือขนาดใหญ่ขึ้นในระดับบรรทุก 10,000-15,000 เดเวทตัน/ลำเข้ามาเสริมกองเรืออีกราว 1-2 ลำในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายงานในอนาคต โดยมีมูลค่าราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ/ลำ จากปัจจุบันที่มีกองเรือทั้งหมด 10 ลำ และอยู่ระหว่างจะขายออก 1 ลำในปีนี้ และอีก 1 ลำในปีหน้า ซึ่งเป็นเรือที่มีอายุมากและมีขนาดบรรทุกเพียง 3,000 เดทเวทตัน

ทั้งนี้ เงินลงทุนทั้งในส่วนของขยายกำลังการผลิตโรงกลั่นและการซื้อเรือ จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่ในปีที่แล้วมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 4 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออาจจะใช้การกู้ยืมบ้าง

สำหรับสถานการณ์ตลาดยางมะตอยในประเทศขณะนี้ค่อนข้างนิ่ง โดยมีความต้องการใช้ราว 1.2-1.3 ล้านตัน/ปี จากการจัดสรรเงินงบประมาณในประเทศที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอ ขณะที่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.62 นั้น กว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาและเริ่มพิจารณางบประมาณใหม่ ก็น่าจะสำหรับงบประมาณปี 64 ซึ่งคงจะไม่มีอะไรที่น่ากังวลมาก โดยบริษัทก็ยังคงรักษาสัดส่วนตลาดในระดับ 50% ส่วนตลาดต่างประเทศจะเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัทจากการที่ได้เข้าไปตั้งฐานโรงงานผลิตยางมะตอยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำยางมะตอยจากโรงกลั่นของบริษัทและโรงกลั่นอื่น ๆ มาผสมให้ได้เกรดพิเศษก่อนจำหน่าย

ขณะที่ทิศทางราคายางมะตอยในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จากการที่ IMO ได้ออกเกณฑ์จำกัดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% ในปี 63 ทำให้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งต่างปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์น้ำมันหนักลดลงทั้งในส่วนของน้ำมันเตาและผลิตภัณฑ์ยางมะตอย

โดยในปีนี้โรงกลั่น S-Oil ของเกาหลีใต้ได้ปรับปรุงโรงกลั่น ส่งผลให้มียางมะตอย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงกลั่นหายไปราว 8-9 แสนตัน/ปี และยังมีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่อีก 1 แห่งของเกาหลีใต้อยู่ระหว่างปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดจะแล้วเสร็จในปลายปี 62 ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ยางมะตอยหายไปจากตลาดอีกราว 8-9 แสนตัน/ปีตั้งแต่ปลายปี 62

รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์มีแผนจะดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project:CFP) ซึ่งจะติดตั้งหน่วยเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์เพื่อเปลี่ยนน้ำมันเตาและยางมะตอยเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65 ส่งผลให้จะไม่มีผลิตภัณฑ์ยางมะตอยออกสู่ตลาด

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นได้ทราบข่าวว่าโรงกลั่นน้ำมันสิงคโปร์ 1 แห่งมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตยางมะตอยเข้าสู่ตลาดเพื่อชดเชยยางมะตอยที่จะลดลง แต่เชื่อว่าจะยังไม่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงการที่บริษัทจะขยายกำลังการผลิตโรงกลั่นเท่าตัวก็จะทำให้มียางมะตอยเพิ่มเข้ามาเป็น 2.4 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 1.2 ล้านตัน/ปีก็น่าจะเข้ามาชดเชยได้บ้าง

"ปีหน้า supply และ demand ก็อาจจะสมดุลกันหรือว่าอาจจะตึง ๆ หน่อยในปีหน้า แต่ที่สำคัญอย่างเช่นโรงกลั่นในบ้านเราโรงกลั่นไทยออยล์ก็จะมีการปรับปรุงโรงกลั่นอีกปี 2023 จะเสร็จตรงนั้นเองก็จะมีผลกระทบก็คือว่ายางมะตอยในบ้านเราที่ออกมาจากโรงกลั่นในกลุ่มของไทยออยล์จะหายไปประมาณ 4-5 แสนตัน อันนี้ก็หมายความว่ายางมะตอยจะไม่พอใช้สำหรับในบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วง high season ช่วงไตรมาส 4 ไตรมาส 1 ดังนั้น มีความจำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อมาชดเชยการขาดแคลนในบ้านเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่าในช่วงที่ยางมะตอยมีไม่เพียงพอสำหรับการขาย จะกระทบก็คือเรื่องของราคาจะสูงขึ้นก็แล้วแต่ว่าขาดแคลนมากน้อยแค่ไหน ถ้าขาดแคลนมากราคาโดยปกติก็จะสูงขึ้นตามลำดับไปด้วย"นายชัยวัฒน์ กล่าว

https://youtu.be/nHSbMmTV5Fc


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ