ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร TPOLY ที่ระดับ "BBB" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 9, 2018 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) ที่ระดับ "BBB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้ของธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดทอนความเป็นวงจรขึ้นและลงของธุรกิจก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวล ตลอดจนความเสี่ยงในการดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และระดับการก่อหนี้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจก่อสร้างด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า การกำหนดอันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยธุรกิจดังกล่าวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของกำไร ซึ่งในมุมมองของทริสเรทติ้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นที่มาของความสำเร็จในการฟื้นตัวทางธุรกิจของบริษัท

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าบริหารงานโดย บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการแล้วจำนวน 6 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ที่ 52.8 เมกะวัตต์ และปัจจุบันกำลังเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในสัดส่วน 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัท

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในสัญญาแต่ละฉบับมีการระบุราคาซื้อขายไว้อย่างชัดเจน

ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของโรงไฟฟ้ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50%

ทริสเรทติ้งเห็นว่ากระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าช่วยลดทอนความผันผวนของธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีธรรมชาติเป็นวงจรขึ้นและลง โดยทริสเรทติ้งมองว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไปอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ความเสี่ยงจากปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิง

แม้จะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แต่โรงไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณและราคาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการตั้งโรงไฟฟ้าให้อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบและจ้างผู้รับเหมาบริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบชีวมวลเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ไม่สามารถผลักภาระความเสี่ยงด้านราคาให้แก่ผู้รับเหมาดังกล่าวได้

บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง วางแผนจะดำเนินงานโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ด้วยตนเองซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงด้านวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีเชื้อเพลิงใช้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังคงเป็นสิ่งท้าทาย บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง พยายามลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการของบริษัท อีกทั้งยังได้พัฒนาปลูกพืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิงของตนเองอีกด้วย ซึ่งความพยายามดังกล่าวก็ทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะสามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี

ความเสี่ยงในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีความเสี่ยงจากการดำเนินการเนื่องจากมีโครงการโรงไฟฟ้าใหม่หลายแห่ง ความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำเลที่ตั้งของโครงการ และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอาจเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงการใหม่ได้

ในปี 2559 บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 3 แห่งในจังหวัดยะลาและนราธิวาสโดยมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 24.7 เมกะวัตต์ บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 21 เมกะวัตต์ในจังหวัดปัตตานีซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัท นอกจากนี้ บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ 8 เมกะวัตต์อีกด้วย โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในระหว่างปี 2562-2563

กำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจะสร้างความท้าทายใหม่ เช่น การจัดหาวัตถุดิบเชื้อเพลิงและการจัดหากำลังคน นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ของบริษัทก็อยู่ภายใต้ระบบการประมูลซึ่งมีราคาขายไฟฟ้าต่ำลงมากโดยอยู่ระหว่าง 2.8-3.4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขณะที่โรงไฟฟ้าในปัจจุบันของบริษัทมีราคาขายไฟฟ้าสูงกว่า 4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น การควบคุมต้นทุนสำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จึงต้องกระทำอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น

ธุรกิจก่อสร้างมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก

ในการพิจารณาอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทในธุรกิจก่อสร้างด้วย ธุรกิจดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากธุรกิจก่อสร้างอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทโดยเฉลี่ย ซึ่งทริสเรทติ้งเห็นว่าการมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กทำให้บริษัทไม่สามารถรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าสัญญาก่อสร้างของบริษัทอยู่ในระดับไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อสัญญา

บริษัทมีขอบเขตงานก่อสร้างที่จำกัดโดยเน้นเฉพาะงานก่อสร้างอาคาร เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงแรม และศูนย์การค้า ในขณะที่ผลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีอยู่ไม่มากนัก

บริษัทมีความตั้งใจจะรับงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเพื่อรักษารายได้จากธุรกิจก่อสร้างมิให้ลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีผลงานที่ปรากฏเด่นชัดในงานก่อสร้างประเภทนี้และยังต้องแข่งขันกับผู้รับเหมาขนาดใหญ่อีกเป็นจำนวนมากด้วย

รายได้จะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 3,600 ล้านบาทในปี 2561 โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 3,000 ล้านบาทในปี 2564 จากประมาณ 1,600 ล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการของทริสเรท กำลังการผลิตในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ในระดับ 1,400-2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ประมาณ 2,100 ล้านบาท ความแข็งแกร่งของธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีส่วนช่วยลดแรงกดดันในการประมูลงานก่อสร้างของบริษัท ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างจำกัด บริษัทพยายามที่จะรับงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเพื่อที่จะรักษาระดับรายได้จากธุรกิจก่อสร้างเอาไว้ บริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 ซึ่งจะช่วยประกันรายได้ในอนาคตได้ส่วนหนึ่งสำหรับในช่วงปี 2561-2562

ตามประมาณการของทริสเรทติ้ง รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีจำนวนสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือขายไม่ถึง 100 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2561 ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังไม่คิดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

ผลการดำเนินงานมีความแข็งแกร่ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีสูงกว่าธุรกิจก่อสร้างอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทจะทรงตัวเหนือระดับ 20% ในช่วงปี 2561-2564

บริษัทมีผลขาดทุนจากธุรกิจก่อสร้างในช่วงปี 2555-2558 โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำและราคาวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังมาจากการประเมินราคาที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจก่อสร้างได้เริ่มฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการโครงการใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 จากระดับต่ำกว่า 3% ในช่วงปี 2555-2558 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจก่อสร้างของบริษัทจะยังคงสร้างผลกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า

การก่อหนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้น

บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าในธุรกิจผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทไทยโพลีคอนส์ ทริสเรทติ้งจึงได้รวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย

หนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง วางแผนจะลงทุนประมาณ 5,500 ล้านบาทในโรงไฟฟ้าใหม่ นอกจากนั้น ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้รองรับเงินทุนหมุนเวียนหากบริษัทมีการรับงานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ระดับการก่อหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับไม่เกิน 60% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับ 38.6% ณ เดือนมิถุนายน 2561

กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้ของบริษัทจะลดลงจากหนี้สินที่จะเพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะลดลงเป็นประมาณ 13% ในปี 2562 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่ประมาณ 17% ในปี 2564 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 32.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากตัวเลขติดลบในช่วงก่อนปี 2558 โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยหนุนให้กำไรเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วง 3 ปีข้างหน้านั้น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงแต่ยังคงสูงกว่า 4 เท่า

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีภาระหนี้ค่อนข้างต่ำและไม่มีการใช้เงินทุนที่ไม่สอดคล้องในด้านระยะเวลาแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ประมาณ 460 ล้านบาท ซึ่งเกือบ 280 ล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะสั้นที่บริษัทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 180 ล้านบาทเป็นเงินกู้โครงการระยะยาวที่บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า

ณ เดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันประมาณ 650 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับภาระหนี้ทั้งหมดที่จะครบกำหนดในปีนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้านั้นทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 800-1,300 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทมีภาระจะต้องชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 400-500 ล้านบาทต่อปี

บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินใดใดสำหรับเงินกู้ธนาคาร แต่บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าของบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เอาไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่าหรือ 1.2 เท่า และจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 2.5 เท่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนด ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าได้ด้วยเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรและสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากได้ตามที่วางแผนไว้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ จะสร้างแล้วเสร็จตามแผนและสร้างผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ธุรกิจก่อสร้างจะยังคงสร้างผลกำไร ในขณะที่บริษัทจะสามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนของบริษัทแข็งแรงกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและบริษัทสามารถบริหารจัดการระดับการก่อหนี้ได้เป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการเป็นอย่างมากหรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทด้อยลงจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ