นักวิชาการ แนะ AOT พับแผนสร้างเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิหันขยายเทอร์มินัล 1 แทนพร้อมเร่งสร้างรันเวย์ 4

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 18, 2018 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการแนะ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เดินตามแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกก่อนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เนื่องจากใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และเห็นว่าควรทบทวนแผนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พร้อมทั้งเร่งสร้างรันเวย์เส้นที่ 4 เพื่อรองรับเครื่องบินมากขึ้นตามจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ไม่เช่นนั้นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะปรับขึ้นอันดับ 1 ใน 3 ของโลกตามเป้าหมายได้ยาก

นายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวในเวทีเสวนา"สุวรรณภูมิ สนามบิน 1 ใน 3 ของโลก...ฝันหรือเป็นจริง"ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ,กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่า กรณีโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ของทอท.ได้ถูกวิพาการ์วิจารณ์และข้อกังวลสงสัย รวมทั้งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทั้งกรณีการลอกเลียนแบบ การเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ชนะการประมูล ก่อสร้างนอกเหนือแผนแม่บทเดิม

ขณะที่ ทอท.ตั้งเป้าให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็น 1 ใน 10 ของสนามบินที่ดีที่สุดของโลก และก้าวสู่ 1 ใน 3 ของโลกในระยะข้างหน้า โดยสนามบินสุวรรณภูมิเป็นประตูการค้า การท่องเที่ยว และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การลงทุนต้องเป็นทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ตอบสนองความต้องการผู้โดยสารและเป็นที่เชื่อถือของคนไทยที่เป็นเจ้าของสนามบิน

ดังนั้น เมื่อมีความเห็นต่างกันระหว่างผู้ออกแบบ ผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และ ทอท.จึงต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินชั้นนำอย่างแท้จริง แต่ปรากฎว่าในวันนี้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ไม่มาเข้าร่วมเวทีเสวนา โดยให้เหตุผลไม่สะดวกมาร่วมงาน

ขณะที่นายนวทัศน์ ก้องสมุทร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเห็นว่า AOT ควรจะขยายพื้นที่หรือสร้างส่วนต่อขยายทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งการขยายพื้นที่แต่ละด้านจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารฝั่งละ 15 ล้านคน/ปี รวมเป็น 30 ล้านคน/ปี และใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นได้อีก 5 ปี ขณะที่การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 รองรับผู่โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปีเช่นกัน แต่ใช้เงินลงทุนถึง 4.2 หมื่นล้านบาทซึ่งสูงกว่ามาก

ขณะเดียวกันเสนอให้ ทอท.เร่งศึกษารันเวย์เส้นที่ 4 รองรับการขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารไว้ด้วย เพราะงานก่อสร้างรันเวย์ต้องใช้ที่ดินมาก และต้องมีเวลาในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยที่ผ่านมารันเวย์ที่ 3 ใช้เวลาถึง 4 ปี ดังนั้น หากไม่รีบดำเนินการจะทำให้การจราจรเที่ยวบินเป็นคอขวดมากขึ้น แต่ปกติโดยส่วนใหญ่หลายสนามบินในต่างประเทศมักขยายสนามบินโดยคำนึงถึงผู้โดยสารมากกว่าเที่ยวบิน ทำให้สนามบินฮีทโธรวในอังกฤษเคยต้องประสบปัญหารันเวย์ไม่พอรองรับ แต่ภายหลังแก้ไขได้

นายนวทัศน์ กล่าวว่า การที่ AOT นำผลการศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ทำการศึกษาเมื่อปี 54 มาอ้างอิงในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นั้น AOT ต้องกลับมาทบทวนใหม่ทั้งเรื่องการขึ้นลงเครื่องบินและผู้โดยสาร ที่สำคัญผลการศึกษาของ ICAO ทำไว้นานแล้ว โดยตนเองเห็นว่าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 น่าจะตั้งอยู่ทิศเหนือ ตั้งอยู่ระหว่างรันเวย์ที่ 3 และรันเวย์ที่ 4 จากแผนงานปัจจุบันที่กำหนดให้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก

"เขาต้องศึกษาใหม่ คือทบทวนใหม่เป็น major revise และต้องปรับสมมติฐานใหม่ แล้วเลือกทางที่ดีที่สุด คนส่วนใหญ่นึกถึงแต่ผู้โดยสารแต่ลืมเรือ่งรันเวย์ ทอท.ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ด้วย"นายนวทัศน์ กล่าว

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า AOT ควรกลับมาทบทวนว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิควรจะมีอาคารผู้โดยสาร 3 หลังหรือไม่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายมีสนามบินหลัก 3 แห่ง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา และเห็นว่าไม่มึความจำเป็นเร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดย AOT สามารถขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่ AOT จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทางด้านตะวันออกของสนามบิน ซึ่งจะห่างไกลจากรันเวย์ที่ 3 ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตก ทำให้เกิดความไม่สมดุล สิ้นเปลืองเวลาและน้ำม้น โดยสรุปหาก AOT เดินตามแผนแม่บทการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีโอกาสที่จะติด 1 ใน 3 ของโลก

นางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย TDRI กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(ปี 56-61) อันดับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่ได้ขยับขึ้นมาก จากอันดับ 36 ปรับลงมาที่อันดับ 48 , 47, และ 38 ก่อนจะกลับขึ้นมาที่ 36 ส่วนทางกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และพนักงานยังได้รับโบนัสสูง เพราะจำนวนผู้โดยสารเติบโตมากรับอานิสงส์การท่องเที่ยวของไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การบริการภายในท่าอากาศยานและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่พอรองรับ ทำให้ภาพรวมคุณภาพการบริการลดลง

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิภายใต้การบริหาร AOT เป็นธุรกิจที่ไม่มีการแข่งขัน เพราะเป็นธุรกิจผูกขาด ขณะที่กระทรวงการคลัง มองว่า AOT เป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขัน เพราะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และต้องแข่งขันกับสนามบินชาติอื่น จึงเน้นองค์กรสร้างกำไร ดังนั้นเรียกร้องให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาดูแลคุณภาพการบริการ เพื่อให้ผู้โดยสารหรือผู้เดินทางพึงพอใจมากขึ้น และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแลมากขึ้น หากกระทรวงการคลัง และ กพท.เอาจริง ก็จะทำให้โอกาสที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปรับขึ้นอันดับ 1 ใน 3 ของโลกของ Skytrax

พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวว่า สภาสถาปนิกไม่ได้ต้องการคัดค้านการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท แต่ต้องการตรวจสอบ และรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เพราะหากค่าจ้างออกแบบต่ำ งานก็อาจไม่ได้คุณภาพ แต่ก็ไม่ควรสูงเกินไป ขณะเดียวกันเห็นว่าควรขยายด้านข้างของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ใช้เงินลงทุนสร้างไม่มาก และได้จ้างออกแบบไว้แล้ว สามารถก่อสร้างได้ทันที

ทั้งนี้ ต้องการทราบเหตุผลว่าทำไม AOT จึงตัดสินใจสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือ AOTต้องการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ (Non-Aero) มากกว่า ซึ่งผุ้บริหาร AOT เคยระบุไว้ว่าจะทำรายได้ Non-Aero เป็น 50% จากปัจจุบัน 40% หากเป็นเช่นนั้นก็น่าเป็นห่วง และการแข่งขันระดับโลกก็คงลำบาก

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สนามบินไม่ใช่แค่สถานที่ขึ้นลงเครื่องบิน แต่เป็นได้มากกว่านั้น การพัฒนาสนามบินต้องตั้งโจทย์ให้ถูก มองหลายมิติ เอาผู้โดยสารเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาคนสร้างสนามบินเป็นที่ตั้ง มองแต่เรื่องตัวเอง ไม่ได้มองความสะดวกสบายอาจไม่ได้ตอบโจทย์นักเดินทางทั่วโลกที่ต้องการได้ ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิมีจุดยุทธศาสตร์ดีไม่แพ้ใคร แต่จากผลการจัดอันดับเป็น 36 ในปีนี้ ขณะที่สนามบินชางงี สิงคโปร์ เป็นอันดับหนึ่ง จึงอยากแนะนำเรื่องการปรับปรุงให้บริการภายในสนามบิน พื้นที่ดิวตี้ฟรี มีที่นั่งรอคอยมากเพียงพอ ต้องจัดแบบไม่แออัด และให้ความสะดวกสบายเป็นสำคัญ

นายต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) กล่าวว่า AOT ต้องเปิดเผยข้อมุลสาธารณะ ไม่ใช่ปิดเป็นความลับทั้งหมด ควรจะนำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมี และไม่มีข้อมุลว่าแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใหม่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหรือไม่ หากไม่ได้อนุมัติก็ถือว่าทำไม่ได้ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ใช้เงินลงทุนถึง 4.2 หมื่นล้านบาท ที่ลงทุนไปจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะรองรับได้ถึง 30 ล้านคน/ปี

"โอกาสที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะติด 1 ใน 3 ของโลก โอกาสเป็น 0 ถ้าติด 1 ใน 10 ถือว่าเป็นบุญด้วยซ้ำ ถ้าวิธีการดำเนินการยังเป็นแบบนี้ ต้องขอฟ้องว่ากระทรวงการคลังยังใช้วิธีบริหารจัดการแบบสมัยโบราณ เวลาประชุมกระทรวงการคลังจะส่งผู้แทนมานั่ง เวลาโหวต กระทรวงการคลังยกมือเดียว ชนะทั้งหมด ไม่ต้องมีเหตุและผล และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ดัง ทำให้คนไทยตื่นรู้เลยว่า เกิดปัญหาความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหรือไม่"นายต่อตระกูล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ