SCC คาดยอดขายปีนี้โตราว 7% พร้อมออก 6 มาตรการรวมถึงทบทวนแผนลงทุนรับมือสงครามการค้า-เสริมแกร่งธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 24, 2018 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี คาดยอดขายปีนี้เติบโตราว 7% จากปีก่อน หลังธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามแผนการลงทุนภาครัฐ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากความไม่แน่นอนสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ต้องปรับตัวด้วยการออกมาตรการ 6 แผน ซึ่งรวมถึงการทบทวนโครงการลงทุนใหม่ให้มีความเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะสรุปกรอบได้ภายในสิ้นปีนี้ ตลอดจนรุกลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า เสริมความแข็งแกร่งของบริษัท

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีคาดการณ์ยอดขายปีนี้จะเติบโตได้ราว 7% จากระดับ 4.51 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำยอดขายได้แล้ว 3.61 แสนล้านบาท เติบโต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/61 ยังคาดว่ายอดขายจะเติบโตได้ราว 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างยังดีอยู่ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็ยังอยู่ระดับดี ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ เป็นไปตามตลาดโลก แต่ราคาก็ได้ขยับขึ้นในช่วงนี้ แต่ยอดขายในไตรมาส 4/61 เมื่อเทียบกับช่วง 1-3 ไตรมาสแรกของปีนี้ จะมียอดขายที่ต่ำที่สุดเพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดมาก ทำให้การธุรกรรมต่างๆ อาจจะไม่มากนัก

สำหรับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ราว 5% จากระดับ 37 ล้านตันในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดเติบโตราว 1-3% หลังในช่วงไตรมาส 3/61 ความต้องการใช้ปูนเพิ่มขึ้น 7% เป็นผลจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน หนุนให้ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ความต้องการใช้ปูนในประเทศเติบโต 3% ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/61 ความต้องการใช้ปูนยังอยู่ระดับที่ดีจากการลงทุนภาครัฐต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังไม่มีการชะลอตัว

ทั้งนี้ ในปีนี้เอสซีจี คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 4-4.5 หมื่นล้านบาท หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ลงทุนไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้าประเมินการลงทุนในกรอบ 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขการลงทุน แต่จะพยายามที่ประหยัดการลงทุนให้มากที่สุด โดยการลงทุนที่ไม่จำเป็นก็อาจจะชะลอไว้ก่อน แต่ในส่วนโครงการที่กำหนดไว้แล้วก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 ที่เอสซีจี มีกำไรสุทธิเพียง 9.47 พันล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 24% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (asset impairment) ตามบัญชีประมาณ 1.7 พันล้านบาท ของธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ goodwill การลงทุนในอินโดนีเซีย และสภาพการแข่งขัน และค่าเงินในอินโดนีเซียที่อ่อนตัวลงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันต้นทุนวัตถุดิบแนฟทา ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และความไม่แน่นอนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ส่งผลให้ความต้องการในตลาดของธุรกิจเคมิคอลส์มีความไม่แน่นอนสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาร์จิ้นของธุรกิจเคมิคอสส์ด้วย

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า เอสซีจีได้เกาะติดสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และตระหนักถึงผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อยอดธุรกิจโดยรวม แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ได้เช่นกัน ทำให้เอสซีจีปรับตัวรับมือสถานการณ์ดังกล่าวด้วยแผน 6 ด้านที่พนักงานทุกระดับร่วมมือกันปฏิบัติ เพื่อรักษาและเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจให้มากขึ้น

"สงครามการค้ามีทั้งบวกและลบ บวกคือการที่เราเข้าไปขายในตลาดที่เดิมอาจจะซื้อจากอเมริกาอยู่ เราก็เข้าไปขายได้ และเราก็ไปขายให้อเมริกาได้ก็จะเป็นบวกทั้งคู่ แต่สิ่งที่เห็นเลยคือสินค้าจากจีนก็จะมาในเอเชียเยอะขึ้น ก็จะทำให้การแข่งขันในเอเชียหรืออาเซียนสูงขึ้น และลูกค้าที่อยู่ในจีนหรือประเทศอื่น ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ทุกคนเริ่มมีความระมัดระวังที่สูงขึ้น การจะเริ่มผลิตหรือขยายอะไรก็ต้องดูให้ละเอียดมากขึ้น ตรงนี้จะทำให้ความต้องการสินค้ามีความต้องการที่ลดลง เพราะฉะนั้นโดยรวมมีผลกระทบในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการ 6 ด้าน ได้แก่ 1. การขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางของตลาดโลก ซึ่งมีเส้นทางการค้าที่เปลี่ยนไปจากผลของสงครามการค้า โดยเอสซีจีจะยังเน้นการขยายฐานตลาดสู่ภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และมองหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมูลค่าตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การขยายธุรกิจโลจิสติกส์ไปในจีน รวมพัฒนาระบบขนส่งข้ามแดนระหว่างจีนและอาเซียนในรูปแบบ Total Supply Chain Solution ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2.การบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน เช่น การทำสัญญาซื้อขายถ่านหินล่วงหน้า ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ได้กว่า 400 ล้านบาท และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว 38 เมกะวัตต์ (MW) ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภายนอกคิดเป็นผลประหยัด 170 ล้านบาท/ปี โดยเอสซีจีจะยังคงเน้นการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักอื่น แม้ล่าสุดจะเผชิญปัญหาที่บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ซึ่งเป็นผู้ป้อนไฟฟ้าให้กับโรงงานในกลุ่มเอสซีจี มีความต้องการจะขายกิจการให้กับบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ก็ตาม

3.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 4.การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มงบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็น 1.5-2% ของยอดขายรวมในอนาคต จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 1% ของยอดขายรวม ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เอสซีจี มียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ในสัดส่วน 39% ของยอดขายรวม 5.การเพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนหมุนเวียน ด้วยการบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ระดับที่เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/61 เอสซีจีมีเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ 7.6 หมื่นล้นาบาท ทั้งนี้ มีเงินสดและเงินสดภายใต้การบริหาร 5.26 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับแผนการลงทุนและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยมีเป้าหมายภายใน 6 เดือนจะลดเงินทุนหมุนเวียนได้ราว 5-10% เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น

6.การทบทวนโครงการลงทุน ซึ่งจะพิจารณาทั้งในส่วนโครงการที่มีข้อตกลงแล้วจะสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น หรือลดเงินลงทุนได้อีกหรือไม่ ขณะที่ในส่วนของโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษา นอกเหนือจากที่จะต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องลงทุน และหากความไม่แน่นอนของสงครามการค้ามีความต่อเนื่องยาวนานกว่าที่คิดนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนใหม่ดังกล่าวจะมีมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันการลงทุนบางส่วนหากมีพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจะทำให้เอสซีจีสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินไว้ได้หรือไม่ ตลอดจนอาจจะมีการขายธุรกิจที่ไม่เข้มแข็งออกไป โดยคาดว่าการทบทวนโครงการลงทุนดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ หรือภายในสิ้นปีนี้

ขณะเดียวกันก็จะหาแนวทางลดต้นทุน และสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น การพัฒนาโครงการโซลาร์ลอยน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเตรียมให้บริการในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรรายแรกในไทยในปี 62 ให้แก่ผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน

"อันนี้เป็นแผนเชิงรุกเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทั้งเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และเรื่องความต้องการของสินค้าจากสงครามการค้า คือแผนของเรา 6 ข้อหลายๆส่วนเป็นแผนระยะสั้นถึงระยะปานกลาง หลายๆส่วนก็จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แผนต่างๆเหล่านี้เท่าที่ดูจะไม่มีผลต่อเรามากนัก การทบทวนการลงทุนอาจจะมีความกังวล แต่เวลาที่เราทบทวนเราก็จะดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อหาจุด balance ระหว่างการเติบโตธุรกิจของเราและการบริหารจัดการอย่างมีความระมัดระวังความเสี่ยงได้ดีที่สุด ในแง่ผลกระทบต่อการเติบโตระยะยาวของเราไม่มีผลมากนักแต่จะทำให้ในแง่ของเอสซีจี มีความเข้มแข็งมากขึ้นและว่องไวในการตอบรับจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์มากขึ้น"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนามนั้น เอสซีจียังคงเดินหน้าต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1/66 และคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปีที่ 2 หรือในปี 67 ส่วนการลงทุนภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นการลงทุนในด้านโลจิสติกส์ และการให้บริการในพื้นที่ โดยไม่ได้เป็นการลงทุนในเชิงอุตสาหกรรม

ส่วนกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเปิดประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น เอสซีจีแม้ว่าจะได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เอสซีจียืนยันว่าไม่ได้มีความประสงค์และไม่สนใจจะเข้าร่วมประมูลในโครงการดังกล่าว แต่ที่ไปร่วมรับฟังความเห็นเพราะมีผู้ชักชวนให้เข้าไปฟังและเป็นพื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเอสซีจี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ