(เพิ่มเติม1) BTS พร้อมรับเงื่อนไขกทม.เคาะเพดานค่าโดยสารสายสีเขียวไม่เกิน 65 บ./เที่ยว แลกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 30, 2018 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยว่า บริษัทสามารถรับเงื่อนไขของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ของรถไฟฟ้า BTS ไม่ให้เกิน 65 บาท/เที่ยว ซึ่งในหลักการสามารถทำได้ เพราะมีระยะทางเดินรถมากขึ้น

โดยขั้นต้นนี้ กทม.จะต้องรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต -สะพานใหม่-คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อรับโอนและเตรียมเปิดเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ การโอนสินทรัพย์และหนี้สินจาก รฟม.มาให้ กทม. คาดว่าจะเสร็จในช่วงต้นปี 62 จากนั้นจะส่งเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ให้กระทรวงมหาดไทย และเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ บอร์ด PPP และเสนอต่อ ครม.อนุมัติโครงการ จากนั้นจึงมาจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะเลือกเจรจากับ BTS ก่อน หรืออาจใช้วิธีเปิดประมูล ขณะที่ กทม.ต้องการให้มีผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงรายเดียว ซึ่งปัจจุบัน BTSC เดินรถในสัญญาสัมปทาน และรับจ้างเดินรถในส่วนต่อขยาย

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการเจรจากับ กทม.นั้นจะมีประเด็นเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งเบื้องต้นบริษัทยอมรับเงื่อนไขของ กทม. หนี้สินที่บริษัทจ่ายแทน กทม. และการลงทุนเพิ่มเติมหลังจากได้ขยายเวลาสัมปทานเดินรถ อาทิ รถไฟฟ้าขบวนใหม่ เป็นต้น จากสินทรัพย์ที่บริษัทที่มีอยู่สามารถรองรับได้ 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ดำเนินการเจรจา คาดว่า กทม.จะเปิดให้ประชาชนเดินทางส่วนต่อขยายฟรีในช่วง 3 เดือนแรก

"ในหลักการเราทำได้เรื่องค่าโดยสาร ซึ่งค่าโดยสาร ทางกทม.ให้โจทย์มาสักพักแล้ว ...เรื่องจะสรุปได้ช้าเร็วก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ถ้าครม.อนุมัติแล้วก็ตั้งคณะกรรมการ มาตรา 35 เพื่อร่างทีโออาร์ "นายสุรพงษ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ กทม.ได้จัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Seminar) งานศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2572 ที่มีแนวเส้นทางหลัก (Core System) เอกชนผู้ให้บริการรายปัจจุบัน คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะดำเนินการต่อภายใต้สัญญาสัมปทานจนสิ้นสุดปี พ.ศ.2572 ขณะที่แนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 (คือช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และ ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จะให้ BTSC ดำเนินการภายใต้สัญญาจ้างจนถึงปี พ.ศ.2572

ช่วงที่ 2 ปี พ.ศ. 2573-2602 ที่จะให้สัมปทานกับเอกชนรายใหม่ จะสามารถเข้ามาบริหารจัดการ โดยจัดเก็บรายได้ ดำเนินงาน และบำรุงรักษา ทั้ง 3 ช่วงของสายทาง ภายใต้สัญญาสัมปทานใหม่มีระยะเวลา 30 ปี โดย กทม.มีนโยบายที่จะปรับอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน (Base Fare) ให้เป็นระบบอัตราค่าโดยสารตามระยะทางตลอดสาย (Single Fare Table) โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตอลดสายสีเขียว

สำหรับการเดินรถในปัจจุบันบั้น นายสุรพงษ์ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในไตรมาส 2/61 (ก.ค.-ก.ย.61) เติบโตลดลงเหลือเติบโตประมาณ 1% เนื่องจากได้รับผลกระทบช่วงรถไฟฟ้าขัดข้องที่มีการรบกวนของสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอก แต่คาดว่าทั้งงวดปี 61 จะมีจำนวนผู้โดยสารเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4-5% โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 7 กว่าแสนเที่ยวคน/วัน แต่ไม่ถึง 7.5 แสนเที่ยวคน/วัน

ส่วนในปีหน้าคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีนี้ เนื่องจากมีส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวนสถานีทั้งหมด 9 สถานีที่จะเปิดให้บริการต้นเดือน ธ.ค.นี้ รวมทั้งจะมีการแก้ไขปัญหาคอขวดสถานีสะพานตากสิน ซึ่งขณะนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์อีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย.นี้ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในปีนี้และจะเริ่มก่อสร้างเพื่อเพิ่มอีก 1 ราง จากปัจจุบันมีเพียง 1 รางทำให้ต้องใช้เวลาในการสับเปลี่ยนราง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ